ธปท.รายงานเงินทุนไหลเข้า-บาท-ศก.ภาค-สินเชื่อ-การเมืองต่อ กนง.10 มี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 16, 2010 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะนำเสนอรายงานข้อมูลให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 10 มี.ค.รับทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ภาวะเงินทุนไหลเข้า ค่าเงินบาท เคลื่อนไหวของตลาดเงินในต่างประเทศ การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และ ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการรวบรวมถึงข้อมูลในระดับภาคต่าง ๆ ของประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ตลาดรับรู้แล้วว่า ธปท.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากที่อยู่ในระดับต่ำมาก แต่ที่สำคัญในขณะนี้คือเงื่อนเวลาที่เหมาะสมในการปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะต้องพิจารณาทั้งผลต่ออัตราเงินเฟ้อและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่จะต้องมีความสมดุลกัน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ และไม่สร้างแรงกดดันต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อ

"เราอาจพิจารณาผ่อนคลายการลดดอกเบี้ยอาร์พี โดยปรับขึ้นจากระดับที่ต่ำมาก ซึ่ง ธปท.พูดบ่อย และขณะนี้ตลาดก็รับรู้ไปแล้ว ขณะนี้สิ่งสำคัญคือเรื่องเวลาที่เหมาะสม โดยดูเงินเฟ้อและความเข้มแข็งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่สำคัญจะดูแลสองส่วนนี้ให้สมดุล ให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพและไม่กดดันการเร่งตัวของเงินเฟ้อ" นายบัณฑิต กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าภาคเอกชนมีความเข้าใจว่า ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยในระดับต่ำมานานแล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเมื่อเศรษฐกิจเข้มแข็งก็จำเป็นจะต้องมีการถอยออกจากนโยบายผ่อนคลาย ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการสินเชื่อจะมีมากขึ้น ตามความต้องการลงทุนที่เร่งตัวขึ้น

นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับค่าเงินบาทในขณะนี้มีความผันผวนค่อนข้างมาก เป็นผลจากการเงินทุนไหลเข้าภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ซึ่งจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้น 0.4% และมีค่าความผันผวนในระดับ 3.1% ซึ่งน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม มองว่าปีนี้ค่าเงินบาทจะยังมีความผันผวนต่อไป จากปัจจัยสำคัญ 4 ด้าน คือ 1.ในระยะสั้นเกี่ยวกับแก้ปัญหาการขาดดุลการคลังของประเทศในยุโรป 2.การออกจากนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายของสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย 3. ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวมาก โดยเฉพาะในเอเซียต้องระวังการเร่งตัวของเงินเฟ้อ และ 4. ราคาสินทรัพย์ที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจก่อปัญหาฟองสบู่ขึ้นได้ หลายประเทศจึงต้องออกมาตรการป้องกันตัวเอง เห็นได้ชัดเจน เช่นจีน

ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามทิศทางดอกเบี้ยของประเทศกลุ่มเหล่านี้ รวมถึงการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศหลัก รวมถึงการลดการผ่อนคลาย การกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการเงินการคลัง เพราะจะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ

"ช่วงแรกเงินบาทแข็งค่าเพราะมีเงินทุนไหลเข้าไทยและภูมิภาค แต่หลัง ม.ค.มีความเสี่ยงใหม่เพิ่มขึ้นจากการขาดุลภาคการคลัง ของประเทศในยุโปร เช่น สเปน กรีซ ทำให้ดอลลาร์แข็งค่า เงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่า" นายบัณฑิต กล่าว

ส่วนการลดค่าเงินดองของเวียดนามลงอีกรอบนั้น มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันในแง่ของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค และไม่ได้ปรับแข็งค่ามาก แต่ปรับตัวตามปัจจัยพื้นฐาน ขณะที่การลดค่าเงินดอง เป็นการแก้ปัญหาขาดดดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ