ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 1 แสนล้านบาท อายุ 6 ปี เปิดขาย 29 มี.ค.-2 เม.ย.53 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได และชดเชยภาษีไม่เกิน 15% โดยจะให้สิทธิผู้สูงอายุจองซื้อก่อนในวันที่ 29-30 มี.ค.53 ขั้นต่ำ 1 หมื่นบาทถึง 1 ล้านบาท จากนั้นในวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย.จะให้เปิดบุคคลทั่วไปจองซื้อ
"ครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่จะครบกำหนดกำหนดชำระในปีงบประมาณ 54-55 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ" นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้จะจำหน่ายให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเป็นอันดับแรก ก่อนจะจำหน่ายให้ประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนและส่งเสริมการออมของประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระบบสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ให้ได้รับโอกาสลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลที่มีอัตราผลตอบแทนที่แน่นอนและมีความมั่นคงในการลงทุนสูง
ทั้งนี้ พันธบัตรออมทรัพย์จะมีอายุ 6 ปี มีอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยอ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลบวกส่วนชดเชยภาษีไม่เกิน 15% โดยจำหน่ายที่ธนาคารของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังจะกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งผู้สูงอายุสามารถจองซื้อได้ขั้นต่ำตั้งแต่ 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ในวันที่ 29-30 มี.ค.53 หลังจากนั้นจะเปิดให้บุคคลทั่วไปจองซื้อได้ในวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย.53
พันธบัตรดังกล่าวสามารถนำไปขายคืนก่อนครบกำหนดได้ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นนับตั้งแต่พันธบัตรมีอายุครบ 6 เดือนขึ้นไปตามราคาที่จะตกลงกันเอง ซึ่งการโอนกรรมสิทธิ์สามารถทำได้ตั้งแต่อายุพันธบัตรครบ 6 เดือนขึ้นไปยกเว้นการโอนเพื่อเป็นหลักประกันและกรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นเสียชีวิต ทายาทสามารถโอนได้ก่อนเวลาที่กำหนด
ด้านนายจักรกฤษฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์งวดใหม่นี้น่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ย 4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนในตลาด โดยเบื้องต้นจะเปิดจำหน่ายผ่านธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ซึ่งภาครัฐจะนำเงินที่ได้มาใช้ในการรีไฟแนนซ์เงินกู้ในโครงการไทยเข้มแข็งรอบแรก