ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ประกาศแผนรับประกันเงินกู้มูลค่า 8.3 พันล้านดอลลาร์เพื่อเริ่มการก่อสร้างสถานีพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของสหรัฐในรอบ 30 ปี หวังส่งเสริมการสร้างงานและตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในอนาคต
บริษัทไฟฟ้า เซาเทิร์น คอมพานี ในเมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานสองแห่งในเบิร์ก เคาน์ตี้ รัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายโรงงานนิวเคลียร์เดิมที่ตั้งอยู่ใกล้กับออกัสต้า รัฐจอร์เจีย ซึ่งดำเนินงานโดยเซาเทิร์น คอมพานี เช่นกัน
โครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นี้ ซึ่งโอบามาระบุว่าจะเป็นโรงงานที่สะอาดและปลอดภัย จะช่วยสร้างงาน 3,500 ตำแหน่งในระหว่างการก่อสร้าง และจะช่วยสร้างงานถาวร 850 ตำแหน่ง นอกจากนี้ โรงงานนิวเคลียร์แห่งใหม่นี้จะผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนให้แก่บ้านเรือนมากกว่า 550,000 หลังคาเรือน และประชาชน 1.4 ล้านคน
โดยโอบามาได้ประกาศแผนการดังกล่าวหลังจากเสร็จสิ้นการเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมของ International Brotherhood of Electrical Workers ในรัฐแมรี่แลนด์ ซึ่งเป็นตัวแทนของพนักงานในภาคไฟฟ้าและโทรคมนาคม และเป็นสถานที่ฝึกอบรมงานในภาคพลังงาน ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์
โอบามากล่าวว่า นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานที่สะอาดและปลอดภัย "เราจะยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพลังงานสะอาดทั่วอเมริกา" ผู้นำสหรัฐกล่าว
ผู้นำสหรัฐยอมรับว่า แม้การก่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์แห่งใหม่จะได้รับกระแสต่อต้านทางการเมืองจากบางกลุ่ม แต่พลังงานนิวเคลียร์ก็ถือว่าเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เนื่องจากไม่ปล่อยคาร์บอน
นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า โอบามากำลังพยายามทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้เพื่อสร้างงานใหม่ตามที่เขาได้ให้คำมั่นไว้ในระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีเมื่อเดือนที่แล้ว โดยเขาย้ำว่านโยบายการสร้างงานจะเป็นเป้าหมายหลักสำหรับปี 2553
อย่างไรก็ดี ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดไม่เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างงานเท่านั้น แต่ยังเพื่อกระตุ้นการแข่งขันกับนานาประเทศด้วย โดยเขาได้ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นและฝรั่งเศสที่ได้ทุ่มงบประมาณลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์มานานแล้ว นอกจากนั้น ปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 56 แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั่วโลก ได้แก่ 21 แห่งในจีน 6 แห่งในเกาหลีใต้ และ 5 แห่งในอินเดีย
ทั้งนี้ สหรัฐไม่ได้ก่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์แห่งใหม่นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ทรี ไมล์ ไอส์แลนด์ ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อปีพ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลในชั้นบรรยากาศ