สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า อุปสงค์ทองคำทั่วโลกปรับตัวลดลง 11% แตะ 3,385.8 เมตริกตันในปี 2552 เทียบกับระดับ 3,305.7 เมตริกตันในปี 2551 เนื่องจากตลาดเครื่องประดับอัญมณีและภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้ทองคำน้อยลง โดยปริมาณการใช้ทองคำในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีร่วงลง 20% แตะ 1,747.3 เมตริกตัน และการใช้ทองคำในภาคอุตสาหกรรมลดลง 16% แตะ 367.6 เมตริกตัน
อย่างไรก็ดีปี 2552 นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ดีมานด์ทองคำมีมูลค่าเหนือระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องด้วยราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
ขณะที่อุปสงค์ทองคำในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 แต่ปรับตัวขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 3 ของปี 2552
โดยดีมานด์ทองคำในกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีในไตรมาส 4 อยู่ที่ 500.4 ตัน ลดลง 8% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 แต่ปรับตัวขึ้นจากไตรมาส 3 ของปี 2552 แม้ว่าราคาทองคำจะพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ก็ตาม เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น
WGC ระบุในรายงาน "แนวโน้มอุปสงค์ทองคำ" ว่า สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคบางรายกำลังปรับตัวให้เข้ากับราคาทองคำที่สูงขึ้น โดยราคาทองคำทะยานขึ้นถึง 38% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แตะที่ราคาเฉลี่ย 1,099.63 ดอลลาร์ต่อออนซ์
WGC กล่าวว่า ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ดีมานด์ทองคำในตลาดเครื่องประดับอัญมณีได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ซบเซาอย่างหนักในไตรมาสแรก ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการดีดตัวในตลาดจีน และ อินเดีย ซึ่งช่วยให้อินเดียยังรักษาตำแหน่งผู้บริโภคทองคำรายใหญ่สุดของโลกเอาไว้ได้ต่อไป
สำหรับในไตรมาส 4 ปี 2552 ปริมาณการใช้ทองคำเพื่อผลิตเครื่องประดับในอินเดีย ปรับตัวขึ้น 27% แตะ 137.8 เมตริกตัน ส่วนในจีนเพิ่มขึ้น 2% แตะ 86.5 เมตริกตัน ขณะที่ในสหรัฐอเมริการ่วงลง 17%
ส่วนดีมานด์ทองคำในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกในไตรมาส 4 ปีที่แล้วนั้น ขยายตัวขึ้น 11% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 แตะ 99.7 ตัน ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และเป็นการขยายตัวรายปีครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากดีมานด์สินค้าอิเลคโทรนิคส์ที่ดีดตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
ในส่วนของการลงทุนในตลาดทองคำโลกปี 2552 ขยายตัวขึ้น 7% จากปี 2551 แต่ร่วงลง 50% เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 แตะ 219.5 เมตริกตัน หลังจากที่ในช่วงเวลาดังกล่าว นักลงทุนได้แห่เข้าลงทุนในทองคำเนื่องจากเห็นว่าเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
WGC ระบุว่า การลงทุนที่แข็งแกร่งในตลาดตะวันตกช่วยชดเชยการลงทุนที่อ่อนแอในภูมิภาคอื่นๆ ยกเว้นจีน ซึ่งเป็นประเทศนอกฝั่งตะวันตกเพียงแห่งเดียวที่มีอัตราการขยายตัวของการลงทุนในทองคำที่ 22% ในปี 2552
ขณะที่อุปสงค์ทองคำสำหรับกองทุน ETF ในปี 2552 อยู่ที่ 594.7 ตัน ซึ่งสูงกว่าปี 2551 ถึง 85% แต่ดีมานด์ทองสำหรับกองทุน ETF ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ร่วงลง 67% จากช่วงเดียวกันของปี 2551
พร้อมกันนี้ สภาทองคำโลกได้คาดการณ์อุปสงค์ทองคำในภาคอุตสาหกรรมและเครื่องประดับอัญมณีว่าจะยังคงปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเกื้อหนุน แต่ WGC คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของดีมานด์จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
WCG ระบุในรายงานด้วยว่า ดีมานด์การลงทุนในทองคำในฝั่งตะวันตกจะยังคงแข็งแกร่งในปีนี้ ไม่ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเดินหน้าสู่ขาขึ้นหรือกลับสู่ขาลง โดยนักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลงทุนในทองคำไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร กล่าวคือ ถ้าเศรษฐกิจอ่อนแอ นักลงทุนอาจจะเข้าลงทุนในทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หรือถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่ง นักลงทุนก็จะเข้าลงทุนในทองคำเพื่อเก็งกำไร ส่วนดีมานด์การลงทุนในภูมิภาคอื่นนั้น WGC คาดการณ์ว่าจะขึ้นอยู่กับราคาทองคำ