ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เผยปัจจัยที่มีความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็คือ การแก้ปัญหาเงินฝืด และการดึงเศรษฐกิจกลับเข้าสู่การขยายตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ธนาคารจะต้องมีส่วนร่วมและตั้งเป้าที่จะรักษาสภาพแวดล้อมการเงินให้อยู่ในสภาวะที่มีความเหมาะสมและเอื้ออำนวย
ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารแบงค์ชาติญี่ปุ่นวันที่ 17-18 ก.พ.นั้น นายนาโอโตะ คัง รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่นได้กดดันแบงค์ชาติให้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจมากกว่านี้ และยังชี้ด้วยว่า ต้องการให้การขยายตัวของเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 1% โดยรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นควรจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
แบงค์ชาติญี่ปุ่นคาดว่า ภาวะเงินฝืดจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปจนกว่าจะถึงปีงบประมาณ 2554 แม้ว่า แบงค์ชาติจะคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัว
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า สำหรับการคงระดับการประเมินเศรษฐกิจนั้น บีโอเจระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น เนื่องจากการส่งออกและการผลิตขยายตัวขึ้นต่อเนื่อง หลังจากที่เศรษฐกิจประเทศจีนขยายตัวแข็งแกร่ง ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ฟื้นตัวขึ้นจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับจังหวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ในระดับปานกลาง จนกว่าจะถึงช่วงกลางปีงบประมาณ 2553 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนเม.ย. และหลังจากนั้น เศรษฐกิจจะขยายตัวเร็วขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวขึ้น
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในเดือนต.ค.-ธ.ค.นั้น ขยายตัว 4.6% นับเป็นสถิติการขยายตัวที่ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3