นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในปี 2553 กรณีศึกษา ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสัตว์
โดยในปี 2553 คาดว่าปริมาณความต้องการใช้ปลายข้าวจำนวน 0.72 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.70 ล้านตัน ในปี 52, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 3.26 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.19 ล้านตัน, รำละเอียดจำนวน 1.15 ล้านตัน จาก 1.12 ล้านตัน, กากถั่วเหลืองจำนวน 2.26 ล้านตัน จาก 2.21 ล้านตัน และปลาป่นจำนวน 0.18 ล้านตัน จาก 0.17 ล้านตัน
การใช้แบบจำลองดังกล่าวสามารถพยากรณ์ปริมาณความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อประกอบการวางแผนด้านการผลิตและการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สอดคล้องและเพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้ อันจะนำไปสู่การวางแนวนโยบายเพื่อสร้างความสมดุลทางด้านอาหาร อาหารสัตว์ และพลังงานทดแทน
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และเพื่อให้สัตว์ได้บริโภคอาหารที่มีคุณภาพ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรหันมาผสมอาหารสัตว์ใช้เอง และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง เกษตรกรควรรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหรือสหกรณ์ในการจัดหา จัดซื้อวัตถุดิบและผลิตอาหารสัตว์ใช้ร่วมกัน
"ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญได้เกือบทุกชนิด ยกเว้น ถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และปลาป่นคุณภาพสูง ซึ่งผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ทำให้ในแต่ละปีจึงต้องนำเข้าสินค้าเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกร และเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตพืชอาหารสัตว์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงได้มีการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการประมาณการความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อคำนวณความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์แต่ละชนิดในแต่ละช่วงอายุ และ มีต้นทุนต่ำสุด กรณีศึกษา ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร"นายอภิชาต กล่าว