สำนักวิจัยประเมิน GDP Q4/52 บวกครั้งแรกรอบ 5 ไตรมาส,ปี 52 หดน้อยกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเห็นพ้อง ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/52 จะขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส คาดอัตราเติบโตอยู่ที่ราว 2.3-4.5% โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ GDP ปี 52 ทั้งปีหดตัวน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ และต่อเนื่องถึงปี 53 ที่มีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามในเรื่องของการเมือง มาบตาพุด และเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย

ก่อนหน้านี้ สภาพัฒน์ เคยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/52 จะขยายตัว 2.7-3.2% จากการปรับตัวที่ดีขึ้นของการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ GDP ทั้งปี 52 จะอยู่ในระดับ -3.0% ส่วน GDP ทั้งปี 53 คาดว่าจะขยายตัว 3-4%

อนึ่ง สศช.จะประกาศภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 4/52 อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 ก.พ.53 พร้อมสรุปตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ในปี 52 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 53

          สถาบัน                       GDP ไตรมาส 4/52         ทั้งปี 52           ปี 53

          สถาบันวิจัยนครหลวงไทย               2.3%                -3.1%           2-4%
          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง             3.5%                -2.8%           3-4%
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                    4.5%                -2.6%           3-4%
          ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ              3-4%                -3.0%         2.5-4.5%
          สภาพัฒน์                         2.7-3.2%              -3.0%           3-4%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ประเมินว่า GDP ในไตรมาส 4/52 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ไม่ต่ำกว่า 3.5% เนื่องจากในเดือน ธ.ค.52 และช่วงไตรมาส 4/52 มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้นชัดเจน มาจากการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 7.5% ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.1%

ส่วนเศรษฐกิจไทยทั้งปี 52 คาดว่า GDP จะอยู่ในระดับ -2.8% ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า การฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 52 สะท้อนได้จากดัชนีเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรับตัวเป็นบวกครั้งแรก นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 51 ซึ่งทำให้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะหดตัวไม่เกิน -2.8% ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้เมื่อช่วงต้นปี

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า GDP ไตรมาสที่ 4/52 มีโอกาสสูงที่จะขยายตัว 4.5% เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนธ.ค.52 ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/52 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงขึ้นสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกอาจขยายตัวสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 52 ที่คาดว่าจะออกมาดีกว่าคาด จึงทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 อาจหดตัวลงเพียง -2.6% ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ แต่ยังต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่ยังรักษาอัตราการขยายตัวทั้งปีเป็นบวกได้

ส่วน GDP ในปีนี้ประเมินว่าจะขยายตัวเป็นบวกในระดับ 3.0-4.0% โดยปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจของหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้, รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง, อุปทานพืชผลทางการเกษตรทั่วโลกที่ลดลงจะหนุนให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้พืชผลทางการเกษตรสำคัญของไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ อันดับแรก คือ ความกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล รองลงมาคือข้อห่วงใยเกี่ยวกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด ทั้งสองปัจจัยนี้ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินเช่นนี้ต่อไป อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวต่อแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ขณะที่นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ(BBL)คาดว่า GDP ไตรมาส 4/52 จะเติบโตได้ราว 3-4% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัวแล้วหลังวิกฤติเศรษฐกิจผ่านพ้นไป ซึ่งประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับที่เคยคาดไว้ และจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวในช่วงไตรมาสดังกล่าว จึงทำให้หลายประเทศหันกลับมานำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นและส่งผลดีมาถึงภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทย ที่ถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในไตรมาสสุดท้ายของปี 52

"หลังจากที่หลายประเทศกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ และประเมินแล้วว่ายังมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย จึงเริ่มนำเข้า การส่งออกเราจึงฟื้นตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้าย และสูงมากในเดือนสุด ธ.ค.52...ไตรมาสสุดท้ายปี 51 เป็นช่วงที่ต่างประเทศกำลังช็อค ดังนั้น เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำจึงคาดว่า GDP ไตรมาสสุดท้ายปี 52 จะโตราว 3-4%"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ส่วนทั้งปี 52 คาดว่า GDP จะอยู่ในระดับ -3.0% หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ซึ่งถือว่าหดตัวน้อยลงกว่าเดิมที่ฝ่ายวิจัยของ BBL คาดไว้ว่าจะอยู่ในระดับ -3.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้ แต่ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมากนัก

ฝ่ายวิจัย BBL ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 จะเติบโตอยู่ในระดับ 2.5-4.5% ซึ่งมีผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 4/52 ประกอบกับการเดินหน้าของภาครัฐในโครงการไทยเข้มแข็งที่หากทำได้ตามแผนที่วางไว้ ก็จะเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับดังกล่าว

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ยังต้องจับตาปัญหาเศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรป(EU)เช่น กรีซ, โปรตุเกส, สเปน ซึ่งหากยังมีเหตุการณ์เช่นนี้ปะทุขึ้นอีกรอบจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศลดลง และกลับไปชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงเท่ากับปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยกเว้นแต่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายและรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

"เรื่องการเมืองอาจส่งผลกระทบโดยตรงไม่มากต่อ Real Sector แต่ตัวที่มีปัญหาน่าจะเป็นเรื่องมาบตาพุดมากกว่า เพราะถ้ากฎระเบียบ นโยบายไม่ชัดเจน น่าจะมีผลสำคัญกว่าปัญหาเรื่องการเมือง"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI)คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 4/52 ว่าจะสามารถขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยมีโอกาสขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.3% ทั้งนี้ SCRI มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/52 ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 52 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจากทั้งในและนอกประเทศ

"SCRI ยังคงมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 52 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากปัจจัยด้านระดับฐานที่ต่ำในปี 51 ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/52 จะขยายตัวที่ 2.3%"

ขณะที่ GDP ทั้งปี 52 คาดว่าจะยังคงหดตัวอยู่ที่ระดับ -3.1%

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 53 นี้ SCRI คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ตลอดทั้งปี โดยน่าจะเติบโตอยู่ในกรอบ 2.0-4.0% หรือเฉลี่ยที่ 3.0% ซึ่งเศรษฐกิจในปีนี้เติบโตเป็นบวกอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 52 โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามนโยบายไทยเข้มแข็ง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ การกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักในกลุ่ม G-3 เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 53 กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้หลังจากที่มีการหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 52

"SCRI คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2-4% หรือเฉลี่ยที่ 3% โดยมีจุดสูงสุดอยู่ในช่วงไตรมาส 1/53 ที่คาดว่าตัวเลข GDP จะขยายตัวถึง 4.5% ก่อนที่ในช่วงไตรมาสถัดไปจะมีแนวโน้มลดอัตราเร่งในการขยายตัวลง"

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวเป็นบวกมากขึ้น แต่ภาพรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งด้านผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งอาจชะลอตัวเป็นวงกว้างจากความไม่ชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหามาบตาพุด ผลกระทบภาคการส่งออกจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และที่สำคัญคือเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังมีความเปราะบาง


แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ