พณ.เผยไทยใช้สิทธิ AFTA ครองแชมป์การใช้ประโยชน์จาก FTA สูงสุดในปี 52

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ในปี 52 ที่ผ่านมาไทยส่งออกโดยใช้สิทธิเขตการค้าเสรี มูลค่า 22,587.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 745,385.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 51 ร้อยละ 1.32 โดยความตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกสูงสุดในปี 2552 คือ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งการส่งออกภายใต้ความตกลงฯ ดังกล่าว มีมูลค่า 9,670.38 ล้านเหรียญสหรัฐ

รองลงมา ได้แก่ ความตกลงฯ ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ 4,315.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ความตกลงฯไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ 4,258.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับความตกลงฯ อาเซียน-จีน (ACFTA) และไทย-อินเดีย (TIFTA) มีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ 3,990.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 352.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ส่วนความตกลงฯ อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับเมือวันที่ 1 มิถุนายน 52 มีการส่งออกภายใต้ความตกลงฯ ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงธันวาคม 52 ในระดับต่ำเพียง 4.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายวิจักร กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าสำคัญที่มีผู้สนใจมาขอใช้สิทธิประโยชน์ในแต่ละ FTA มีดังนี้ ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ได้แก่ รถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนประกอบยานยนต์ รถกระบะ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และตู้เย็น/ ตู้แช่แข็ง

สำหรับความตกลงฯ ไทย-ออสเตรเลีย (TIFTA) ได้แก่ รถกระบะ รถยนต์ส่วนบุคคล เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ท่อเหล็ก เครื่องเพชรพลอยรูปพรรณและส่วนประกอบ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) ได้แก่ แผ่นยางพารา มันสำปะหลัง กรดโพลิคาร์บอกซิลิก และเม็ดพลาสติก

ภายใต้ความตกลงฯ ไทย-อินเดีย (TIFTA)ได้แก่ เม็ดพลาสติก อะลูมิเนียมแท่ง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มอนิเตอร์และเครื่องฉาย เครื่องเพชรพลอยรูปพรรณและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนภายใต้ความตกลงฯ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง สปริงและแผ่นที่ใช้เป็นสปริง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น

ขณะที่ ความตกลงฯ อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ได้แก่ โพลิเมอร์ของสไตลีน กุ้งแช่แข็ง กรอบรูปไม้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เสื้อที-เชิ๊ต และเสื้อชั้นใน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ