นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ม.ค.53 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 13,723 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 30.8% จากเดือน ม.ค.52 ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 44.8% คิดเป็นมูลค่า 13,208 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เดือนม.ค.53 ไทยเกินดุลการค้า 516 ล้านดอลลาร์
"ยอดส่งออกเดือน ม.ค.ถือว่าขยายตัวดีมาก จากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทั้งในตลาดหลัก และตลาดรอง ประกอบกับ ผู้ส่งออกไทยสามารถดึงคำสั่งซื้อมาได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ลูกค้ายังมั่นใจคุณภาพสินค้าไทย รวมถึงได้รับอานิสงส์จากการเปิดเสรีในกรอบต่างๆ ทำให้ตอนนี้ผู้ส่งออกนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบ และกึ่งวัตถุดิบเพื่อใช้ขยายการลงทุนและผลิตสินค้ามากขึ้น ต่างจากปีก่อนที่เศรษฐกิจโลกซบเซา ทำให้ยอดนำเข้าติดลบเกือบทั้งปี จึงถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกที่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ" นางพรทิวา กล่าว
รมว.พาณิชย์ ยังเชื่อว่า มูลค่าการส่งออกในปี 53 จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 14% หรือมูลค่าประมาณ 1.73 แสนล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ คาดแนวโน้มการส่งออกในเดือน ก.พ.53 จะขยายตัวประมาณ 10% ส่วนในไตรมาส 1/53 ตั้งเป้าขยายตัว 17% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ , ไตรมาส 2/53 คาดว่าจะขยายตัว 19-23% มูลค่า 41,000-42,000 ล้านดอลลาร์, ไตรมาส 3/53 ขยายตัว 11-15% มูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ และ ไตรมาส 4/53 ขยายตัว 5-8% มูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญในเดือน ม.ค.53 เพิ่มขึ้นทุกหมวดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้น 46.2% ทั้งข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล และสินค้าอาหาร ยกเว้นไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่ลดลง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่ม 27.8% โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี สิ่งทอ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องสำอาง ส่วนที่ส่งออกลดลง คือ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้าน นาฬิกา และเครื่องกีฬา
ขณะที่สินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม เช่น สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่ม 59.6% สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่ม 22.9% และกลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งเพิ่ม 47.3% ที่สำคัญสินค้าทุนเพิ่ม 9.3% เช่น เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพิ่ม 77.1% เช่น เคมีภัณฑ์ เหล็ก สินแร่ เครื่องเพชรพลอย พืชและผลิตภัณฑ์พืช พลาสติก ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช
ตลาดส่งออกที่สำคัญ ตลาดหลักเพิ่มขึ้น 28.4% ทั้งสหรัฐฯ เพิ่ม 15.9% ญี่ปุ่น 15.9% สหภาพยุโรป 9.3% อาเซียน 66.6% ส่วนตลาดใหม่และรองก็เพิ่ม 33.2% โดยตลาดขยายตัวมาก ได้แก่ อินเดีย 141.7% ไต้หวัน 96% จีน 94.2% รวมถึงอินโดจีน ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก ฮ่องกง เกาหลีใต้ และ ออสเตรเลีย ก็เติบโตทุกตลาด