ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดปี 53 นำเข้าพุ่งแรง แต่ยังเกินดุลการค้ากว่า 6 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดุลการค้าของไทยในปี 53 จะเกินดุลลดลงจากปีก่อน แต่ยังคงเกินดุลฯ เป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูงประมาณ 6.6-9.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท

การส่งออกของไทยในปี 53 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 10.0-14.0 และมีโอกาสเพิ่มมุมมองเชิงบวกมากขึ้นหากปัจจัยที่เป็นกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคยุโรปคลี่คลายลง ขณะที่การนำเข้าอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 20.0-25.0 และจากทิศทางการนำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราเร่งสูงกว่าการส่งออก

"ปี 2553 เป็นที่คาดหมายว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวดีขึ้น จากอานิสงส์ของการฟื้นตัวอย่างชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ส่วนการนำเข้าอาจมีปัจจัยหลายด้านที่หนุนให้เร่งตัวขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ดุลการค้าของไทยในปี 2553 แม้ว่าจะยังคงมีฐานะเกินดุล แต่อาจเกินดุลลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนหน้า" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ

วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม 53 ขยายตัวสูงร้อยละ 30.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมาถึงร้อยละ 44.8

สำหรับแนวโน้มในเดือนกุมภาพันธ์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การขยายตัวของการส่งออกและนำเข้าอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นวันหยุดยาวของธุรกิจในประเทศแถบเอเชียเชื้อสายจีน แต่อัตราการขยายตัวน่าจะยังคงสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยเฉพาะการนำเข้าที่อาจเติบโตสูงถึงกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากฐานปีก่อนต่ำ

ขณะที่ทิศทางโดยรวมในเดือนต่อๆ ไปน่าจะเห็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวอาจจะค่อยๆ ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งก็ยังคงมีสาเหตุจากฐานเปรียบเทียบที่เริ่มขยับสูงขึ้นหลังจากการค้าของไทยมีการฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ที่ผ่านมา

แต่ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทน่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากฐานะการเกินดุลการค้าในปีนี้ แต่ยังต้องจับตาทิศทางค่าเงินของสหรัฐฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นร้อยละ 0.75 จากเดิมร้อยละ 0.50 ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของบางประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูง

ปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกและนำเข้าต้องติดตามและเตรียมรับมือ ที่สำคัญผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มที่ต้องแข่งขันในตลาดที่มีความอ่อนไหวด้านราคา อาจต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากนอกจากจะมีประเด็นความผันผวนของค่าเงินบาทแล้ว ยังมีกรณีที่คู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนามได้มีการลดค่าเงินด่องลงมาแล้ว 2 ครั้ง รวมแล้วประมาณเกือบร้อยละ 9 และยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะลดค่าเงินลงได้อีก ซึ่งเป็นผลให้สินค้าของเวียดนามมีความได้เปรียบด้านราคาส่งออกมากขึ้น โดยสินค้าที่ไทยมีการแข่งขันโดยตรงกับเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้ากลุ่มเกษตรกรรม เช่น ข้าว กุ้ง และสินค้ากลุ่มที่พึ่งพาแรงงาน เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ