นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)ของปี 53 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 3.5-4.5% เนื่องจากได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยจะมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวด้านการส่งออกเป็นหลัก และหากการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหากสามารถขับเคลื่อนได้ภายในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้
ทั้งนี้ การประเมินดังกล่าวเป็นไปภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.8-4.2%, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล, จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างชาติอยู่ที่ 16 ล้านคน
ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง, การแก้ไขปัญหาการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรรมมาบตาพุดที่ควรดำเนินการให้เสร็จอย่างช้าภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้, การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐและเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 53, ปัญหาภัยแล้ง และ การดำเนินโนบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายอำพน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี GDP ของปี 53 ที่คาดว่าจะโต 3.5-4.5% ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง โดยปฏิเสธที่จะตอบว่าหากรวมปัจจัยทางการเมืองแล้ว GDP จะปรับลดลงไปเหลือเท่าไหร่ แต่นายอำพน ระบุ เพียงว่าขอให้นึกถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1 ของปี 52 ที่ลดลงไปต่ำสุดถึง 7.1%
นอกจากนี้จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 49 ต่อเนื่องถึงปี 50 ยังปรับลดลงไปเหลือเพียง 2% จากระดับ 5% ในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงนั้นจะไม่มีปัญหาเลยก็ตาม แต่ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจไทยได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศขึ้นอีก ก็ไม่อยากที่จะเห็นตัวเลขกลับไปเป็นเหมือนช่วงไตรมาส 1 ปี 52
"ขณะนี้เศรษฐกิจเคยล้มลงมา 2 ครั้งแล้ว ไม่อยากให้เกิดครั้งที่ 3 โดยมีปัจจัยการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยากขึ้นทุกที...3.5-4.5% ไม่น่าจะเป็นอัตราที่เกินขีดความสามารถของเรา แต่ผมขอฝากนิดเดียวว่าเคยเล่นยูโดกันมั้ย ถ้าเอาหลังแตะพื้น 3 ครั้งคือเลิก เราแตะพื้นมา 2 ครั้งแล้ว ครั้งที่ 1 เมื่อปี 49 ครั้งที่ 2 คือปลายปี 51 ต่อเนื่องถึงปี 52 ที่มีการปิดสนามบินและเหตุวุ่นวายเมือเดือนเม.ย. และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตำต่ำ โชคดีที่เราติดลบเพียง 2.3% ถึงแม้สภาพัฒน์จะประมาณการที่ 3.5-4.5% แต่ถ้าล้มอีกครั้งในการล้มครั้งที่ 3 ถ้าเกิดความวุ่นวายโอกาสฟื้นตัวก็จะยาวขึ้น"นายอำพน กล่าว
พร้อมกันนั้น เลขาธิการ สภาพัฒน๋ ได้เสนอแนะรัฐบาลถึงแนวทางการบริหารเศรษฐกิจปี 53 โดยเห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับ 4 มาตรการ คือ 1.การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สมดุลระหว่างการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจ เพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก
2. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและโครงการลงทุนสำคัญที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพในการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของกรอบงบประมาณปกติและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่ารัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาว เช่น โครงการรถไฟฟ้าและการขนส่งระบบราง ที่อย่างน้อยควรจะเดินหน้าได้ 4 เส้นทางภายใน 3 ปีนี้ คือ สายสีเขียว สายสีแดง สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยให้มีความเชื่อมโยงกับระบบรถไฟรางคู่แบบ Hi speed train ที่มีโครงการก่อสร้างอยู่ภาคตะวันออก
3. การเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคการลงทุน โดยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดในการขยายกำลังการผลิตในอนาคตของภาคอุตสาหกรรม และ 4. การลดความเสี่ยงและรักษารายได้ของเกษตรกร โดยดำเนินมาตรการประกันรายได้ให้แกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง