นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการศึกษา พร้อมทั้งเห็นชอบในหลักการจัดตั้งสถาบันพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
โดยกรอบการศึกษา ได้แก่ 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทยจะเน้นการพัฒนาและต่อยอดศักยภาพของผู้ผลิตอุตสาหกรรมในประเทศที่มีศักยภาพอยู่แล้ว
2.กำหนดแผนที่นำทาง(Roadmap) โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1(2554-56) ประเมินศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง ระยะที่ 2(2557-62) พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในการผลิต ระบบไฟฟ้าสำหรับรางของรถไฟยกระดับ หรือโครงสร้างของตัวตู้โดยสาร ระยะที่ 3(2562-72) พัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และสร้าง Open Source Platform เพื่อพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้สามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มและมีเทคโนโลยีสูงขึ้นได้
3.กำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลงานโครงการแสดงรายการชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ โดยให้มีการแจกแจงคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละชิ้นส่วน รวมถึงมาตรฐานที่ใช้ ทั้งนี้อาจมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไทยมากขึ้น เช่น การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ การพัฒนาบุคลากร การร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษา สถาบันอิสระหรือหน่วยงานวิจัยของรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งให้ชะลอข้อเสนอของภาคเอกชนที่ให้กำหนดแต้มต่อ(Handicap) กับผู้ที่เสนอประมูลโครงการที่มีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ และเสนอให้บรรจุเข้าในเงื่อนไขการประมูลงาน(ทีโออาร์) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศโดยภาคเอกชน เนื่องจากเห็นว่าเงื่อนไขทีโออาร์เป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องกำหนดในช่วงนี้
โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.สร้างความพร้อมด้านการดูดซับและพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรรองรับในลักษณะเครือข่าย โดยทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวง อุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสารสนเทศ และกระทรวงศึกษาธิการ(มหาวิทยาลัย)
2.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางการทำงานของสถาบันพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
และ 3.พิจารณากำหนดเงื่อนไขที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ขัดต่อกติการะหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การการค้าโลก