กสิกรคาดจีดีพี Q1/53 โตเกิน6% หนุนความมั่นใจรัฐเล็งถอนนโยบายกระตุ้นศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 22, 2010 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในไตรมาส 1/53 มีโอกาสเติบโตไม่น้อยกว่า 6% และจะเป็นพื้นฐานสำหรับการฟื้นตัวอย่างมั่นคงขึ้นในระยะต่อไปหากสถานการณ์บ้านเมืองผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อย ขณะที่จีดีพีในไตรมาส 4/52 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างแข็งแกร่ง และปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังมีแรงส่งต่อมาถึงปี 53

"จากตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4/52 ที่ขยายตัวสูงกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก นับเป็นก้าวย่างของพัฒนาการที่สำคัญของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยที่สะท้อนว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง และมีความยืดหยุ่นที่ทำให้สามารถประคองตัวฝ่ามรสุมในปี 52 มาได้ดีกว่าที่คาด แม้ต้องเผชิญวิกฤติ 2 ด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของโลกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองหลายครั้ง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้โดยภาพรวมทั้งปี 52 เศรษฐกิจไทยหดตัวลง 2.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ดีกว่าที่ได้ประเมินไว้ในช่วงต้นปี 52 ว่าจีดีพีจะหดตัวลงในระดับที่รุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณบวกชัดเจนนี้ เพิ่มความมั่นใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งรัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ต่างแสดงท่าทีที่ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถรักษาแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสัญญาณเศรษฐกิจในช่วงระยะต่อไปยังคงบ่งชี้การฟื้นตัวที่มั่นคง ก็น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อการกำหนดนโยบายในระยะต่อไป โดยเฉพาะการเริ่มทยอยถอนมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลง

"จากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่มีความอ่อนไหว และมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจได้นั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในระยะสั้น ทางการน่าจะยังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ประคองการฟื้นตัวให้มีความต่อเนื่องต่อไปได้ และอาจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายมากนัก ขณะที่อาจรอดูหากสถานการณ์ทางการเมืองผ่านไปได้โดยสงบเรียบร้อย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

พร้อมมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่สภาพัฒน์จะมีการประกาศในรอบหน้า(ปลายพ.ค.53) ยังคงมีภาพที่แข็งแกร่ง ก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทย

สำหรับผลกระทบทางการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความรุนแรงของเหตุการณ์ ถ้าเหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นความรุนแรง ก็จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ผ่านผลกระทบที่มีต่อการท่องเที่ยว, การลงทุน, การใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐที่อาจล่าช้าออกไป โดยในกรณีเลวร้ายจีดีพีอาจหายไปมากกว่า 1% ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 5 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ ทิศทางเศรษฐกิจจีน ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังให้เป็นการชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) หลังจากจีนเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาฟองสบู่และทางการจีนออกมาตรการควบคุมสินเชื่อมาเป็นระยะ แต่ยังต้องติดตามว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และฐานะของสถาบันการเงินในจีนเช่นใด

ปัจจัยที่สอง ต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทของไทย ทั้งนี้การส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของเฟด จาก 0.50% มาเป็น 0.75% นั้น สะท้อนว่าเฟดมีความมั่นใจพอสมควรว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แข็งแรงเพียงพอที่จะขับเคลื่อนต่อไปได้ภายใต้กลไกปกติ

ปัจจัยที่สาม การแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศในยุโรป ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าแผนการควบคุมการขาดดุลการคลังและระดับหนี้สาธารณะของกรีซ, สเปน, โปรตุเกส และประเทศอื่นที่มีระดับสูงจนน่าวิตกอาจจำกัดศักยภาพในการฟื้นตัวของภูมิภาคยุโรปโดยรวม และอาจมีผลกระทบกลับมาที่ธนาคารและสถาบันการเงินในเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ประเทศดังกล่าว

ปัจจัยที่สี่ ทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ในตลาดโลก และปัจจัยด้านสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาวะแล้งในประเทศ ที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรพุ่งสูงขึ้น และเร่งภาวะเงินเฟ้อของไทย ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ปัจจัยที่ห้า ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงตามกรอบเวลาที่ชี้แจงแก่นักลงทุนไว้ เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้กลับคืนมา เนื่องจากปัจจุบันภายใต้สภาพแวดล้อมการเปิดเสรีและจะค่อยๆ ก้าวสู่การเปิดเสรีภายในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเสริมจุดแข็งเพื่อสร้างความน่าดึงดูดในการลงทุนเพื่อให้ไทยเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ สำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ