"ภัทรียา"เผยผลสำรวจ JBIC เผยญี่ปุ่นยังมองไทยน่าลงทุนเป็นอันดับ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2010 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากผลสำรวจของ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่งประเทศแห่งประเทศญี่ป่น(JBIC) เรื่องความน่าสนใจลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่า ไทยยังเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนโดยตรง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

ทั้งนี้ ผลสำรวจที่มีขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.-ก.ย.52 พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าประเทศไทยน่าลงทุนเป็นอับดับ 4 รองจาก จีน อินเดีย เวียดนาม เป็นการเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 5 เมื่อปี 51

นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าไทยมีข้อดีเนื่องจากมีโอกาสเติบโตในเชิงการลงทุน ปัจจัยหลายด้านยังน่าสนใจ แต่ยังมีปัจจัยน่ากังวลเรื่องความมั่นคงทางสังคมและการเมือง แต่ผลสำรวจนี้ยังไม่รวมปัญหามาบตาพุด เพราะเป็นการสำรวจเมื่อ ก.ค.-ก.ย.52 โดยการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 22% ของการลงทุนรวมในประเทศไทย

นางภัทรียา กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหามาบตาพุดให้ยุติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบต่ออันดับความน่าลงทุนของไทยส่วนปัญหาการเมือง ขณะนี้เป็นปัจจัยที่นักลงทุนกังวลอยู่เมื่อเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา

"นักลงทุนญี่ปุ่นยังมองไทยน่าสนใจ แต่การโตอาจไม่เร็ว แต่ก็ถือว่าอยู่อันดับที่ดี"นางภัทรียา กล่าว

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)กล่าวว่า ตั้งแต่ ม.ค.53 มีนักลงทุนยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว 50,000 ล้านบาท ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ จากที่ตั้งเป้าทั้งปีนี้ที่ 5 แสนล้านบาท โดยธุรกิจที่ยื่นขอส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นการขอรับการส่งเสริมต่อเนื่องจากปีก่อน รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร อิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งธุรกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่อุตสาหกรรมยานยนต์อาจฟื้นตัวช้าอิเล็กทรอนิคส์ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน รวมถึงโครงการพลังงานทดแทนที่รัฐบาลให้การสนับสนุน

สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่ติดปัญหาการลงทุนมาบตาพุดมีเพียง 5 แห่ง และโครงการที่ติดปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นโครงการปิโตรเคมี จึงไม่น่ากระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ขณะที่บีโอไอเตรียมไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นในวันที่ 11-13 มี.ค.53 เพื่อชี้แจงสถานการณ์ต่างๆ ในประเทศ และชักชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนยังมองไทยน่าสนใจลงทุนอยู่

นายซูสุมุ คุชิดะ เศรษฐกรอาวุโสและหัวหน้าสำนักงานเจบิค ประจำประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การสำรวจประจำปี 52 ไทยยังคงมีศักยภาพที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอันดับ 4 โดยมีศักยภาพของตลาดในประเทศ อัตราค่าจ้างต่ำ และการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญ แต่ไทยควรเร่งแก้อุปสรรคบางประการ เช่น สภาวะการแข่งขันที่รุนรแง ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในระดับบริหาร และเสถียรภาพการเมือง

อนึ่ง จากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) พบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนสำคัญในไทย โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น สูงเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในปี 52 เป็นมูลค่ารวม 15.7 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีฐานะการลงทุนโดยตรงสูงที่สุดอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปี 52 มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงสุทธิในไทย สูงกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ