นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายการประกันรายได้ของเกษตร" ในงานสัมมนามาตรการแทรกแซงตลาดพืชผลเกษตรเพื่อป้องกันการทุจริต โดยย้ำถึงความสำคัญของประโยชน์ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่มีมากกว่าโครงการรับจำนำ พร้อมเล็งใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรขยายไปยังพืชผลเกษตรชนิดอื่น เช่น อ้อย ตลอดจนผลไม้บางประเภท รวมถึงจะใช้นโยบายนี้ในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรในแง่มุมอื่น เช่น กรณีเกิดภัยแล้ง หรือเกิดปัญหาการระบาดของศัตรูพืช
ทั้งนี้จากการประกันรายได้เกษตรกรในรอบแรกที่ผ่านมา พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรได้มากกว่าโครงการรับจำนำ และยังใช้งบประมาณน้อยกว่าการรับจำนำ ซึ่งหากเป็นโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลต้องใช้งบประมาณถึง 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่โครงการประกันรายได้เกษตรใช้เงินเพียง 3 หมื่นล้าน สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท
หากเทียบสัดส่วนผู้ได้รับประโยชน์ระหว่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรกับโครงการรับจำนำนั้น จะพบว่า โครงการรับจำนำข้าว มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 1 ล้านครัวเรือน ขณะที่โครงการประกันรายได้มีเกษตรกรได้ประโยชน์ถึง 3 ล้านครัวเรือน, โครงการรับจำนำข้าวโพด มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 8 หมื่นราย ขณะที่โครงการประกันรายได้มีเกษตรกรได้ประโยชน์ถึง 4 แสนราย และโครงการรับจำนำมันสำปะหลัง มีเกษตรกรได้ประโยชน์ 2.5 แสนราย ขณะที่โครงการประกันรายได้มีเกษตรกรได้ประโยชน์กว่า 4 แสนราย
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ในโครงการประกันรายได้เกษตรกรรอบสองนี้ รัฐบาลจะใช้เทคโนโลยีเรื่องภาพถ่ายดาวเทียมธีออสเข้ามาช่วยในการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนและทำประชาคม เนื่องจากพบว่าในการขึ้นทะเบียนรอบสองนี้เริ่มเห็นความผิดปกติของตัวเลขการลงทะเบียนในบางพื้นที่จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด
โดยรอบนี้จะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมธีออสที่ถ่ายไว้เมื่อ พ.ย.52 จนถึงปัจจุบันที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว นำมาตรวจสอบกับตัวเลขเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียน หากพบว่าพื้นที่ใดตัวเลขคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก รัฐบาลจะไม่มีการจ่ายเงินประกันรายได้ให้เกษตรกร
อนึ่ง วานนี้(23 ก.พ.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมธีออส(THEOS) มาช่วยในการตรวจสอบพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรในรอบสอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใส รวมทั้งช่วยป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว