กรุงเทพโพลล์ เผยนักเศรษฐศาสตร์เห็นก้ำกึ่งรัฐยกเลิกมาตรการกระตุ้นศก.เร็วขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 11:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อประเด็นทางเศรษฐกิจ ในเดือน ก.พ.2553 โดยคำถามที่ว่ารัฐบาลจะย่นระยะเวลาในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้สิ้นสุดเร็วขึ้นนั้น พบว่ามีความเห็นในสัดส่วนใกล้เคียงกันทั้งในแง่ไม่เห็นด้วยและเห็นด้วย

โดยนักเศรษฐศาสตร์ 43.1% ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจโลกยังเปราะบางและผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดี การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้น ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศยังคงมีอยู่ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ 41.4% เห็นด้วย โดยมองว่าช่วงไตรมาส 3-4/2553 เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสิ้นสุดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ส่วนคำถามที่ว่าจากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทยังมีความจำเป็นหรือไม่นั้น พบว่านักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันระหว่างมีความจำเป็นลดลง กับยังมีความจำเป็นอยู่ โดยนักเศรษฐศาสตร์ 37.9% มองว่ามีความจำเป็นลดลง เพราะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นงบประมาณเพียงอย่างเดียวน่าจะเพียงพอ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อีก 36.2% มองว่ายังจำเป็นอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ทำให้ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีอยู่ และการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวที่สำคัญให้กับประเทศ

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 75.9% เชื่อว่าเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจริงตามที่หน่วยงานภาครัฐประกาศ พร้อมมองประเด็นการลดค่าเงินด่องของเวียดนามรอบ 2 ว่าจะกระทบการส่งออกของไทยเพียงเล็กน้อย เนื่องจาก 1.สินค้าของไทยมีคุณภาพดีกว่าเวียดนาม 2.เวียดนามได้ประโยชน์จากค่าเงินก็จริงแต่เสียเปรียบด้านต้นทุนที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูง 3.สินค้าที่ต้องแข่งขันกับเวียดนามมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกโดยรวม

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ 48.3% มองว่าการที่เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.53 ท่ามกลางปัญหาการเมืองในประเทศของไทยและปัญหามาบตาพุดที่ยังหาทางออกไม่ได้นั้น จะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิต-การลงทุนไปยังประเทศอื่นที่ไม่ใช่ไทย

นอกจากนี้ยังมองว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยในเดือนม.ค.53 ต่อเนื่องจนถึงเดือนนี้ เป็นผลมาจากปัญหาด้านการเมืองมากที่สุด รองลงมา คือ ปัจจัยเศรษฐกิจโลก และการปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค พร้อมมองว่าปัญหาด้านการเงินของสถาบันการเงินที่ยังไม่สิ้นสุดนั้น จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้มากที่สุด

ส่วนแนวคิดที่นายกรัฐมนตรี จะยกเลิกโครงการหวยออนไลน์นั้น พบว่าส่วนใหญ่ 46.6% เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะหากมีหวยออนไลน์จะยิ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการพนัน มอมเมาเยาวชน และไม่สามารถแก้ปัญหาหวยใต้ดินได้ ส่วนอีก 36.2% ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก เพราะหวยอยู่คู่กับสังคมไทยมานานแม้ไม่มีหวยออนไลน์คนก็ยังเล่นหวยอยู่ดี และการยกเลิกหวยออนไลน์คนได้ประโยชน์คือเจ้ามือ อีกทั้งเอกชนที่เป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้อาจฟ้องร้องรัฐบาลได้

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานด้านเศรษฐกิจชั้นนำ 20 แห่งของประเทศ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 16-23 ก.พ.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ