ก.เกษตรฯ เร่งจัดระบบนำร่องปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาคาดเริ่มต้นปีหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำระบบการปลูกข้าวมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการจัดระบบการปลูกข้าวเบื้องต้น เพื่อปรับระบบการปลูกข้าวใหม่ให้สอดคล้องกับการจัดสรรน้ำชลประทานตรงกับช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม พร้อมทั้งมีความเหมาะสมกับการปลูกพืชหลังนา

“ที่ผ่านมาปริมาณการใช้น้ำจริงเกินกว่าปริมาณน้ำเป้าหมายต่อเนื่องทุกปี โดยปริมาณน้ำที่จะจัดสรรได้จากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำที่ถูกใช้จริงมีถึง 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์การใช้น้ำเป็นเช่นนี้ต่อไป ภาคการเกษตรอาจจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงได้ในอนาคต"นายยุคล กล่าว

ดังนั้น การจัดระบบการปลูกข้าวให้สอดคล้องกับการจัดสรรน้ำชลประทานจึงเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ เพื่อป้องกันปัญหาวิกฤตน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตข้าวทั้งประเทศได้ ซึ่งหากแนวทางที่กระทรวงเกษตรฯ วางระบบการปลูกข้าวผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในฤดูการผลิตข้าวนาปีประมาณเดือนมกราคมปีหน้า

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูกข้าวจริงในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะความต้องการการใช้น้ำของเกษตรกร และรอบการปลูกข้าวของเกษตรกรซึ่งในบางพื้นที่ยังพบว่ามีการเพาะปลูกข้าวปีละ 3 ครั้ง ที่ข้อมูลทางวิชาการพบว่าใช้ต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างสูง เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดศัตรูพืช และผลผลิตต่อไร่ต่ำ

ทั้งนี้ จะมีการนำข้อมูลในเรื่องต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อไร่ และรายได้ของเกษตรกรมาเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียกับการปลูกข้าวแค่ปีละ 2 ครั้ง ที่จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการได้มากยิ่งขึ้น

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นกรอบในการคัดเลือกจังหวัดเป้าหมายในการจัดทำระบบการปลูกข้าวนั้น จะเป็นพื้นที่ในเขตชลประทานที่สามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปีประมาณ 9.5 ล้านไร่ ในพื้นที่ 22 จังหวัดทางภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวสำคัญของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งกรมการข้าวได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณากรอบมาตรการหรือข้อกำหนดในการสนับสนุน หรือชักจูงให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการจัดระบบการปลูกข้าว อาทิ มาตรการสนับสนุนจัดหาแหล่งเมล็ดข้าวพันธุ์ดีแก่เกษตรกร มาตรการด้านการตลาด จัดหาตลาดรองรับ รวมถึงกรณีที่เกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 2 ครั้งต่อไปหรือไม่เป็นไปตามเงื่อนไขกรอบระยะเวลาการเพาะปลูกที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนด ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์การประกันรายได้

และ จะมีการพิจารณารายละเอียดของระบบการเพาะปลูกอีกครั้งที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลเชิงลึกแต่ละประเด็นที่ได้มอบหมายอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิจารณา และเสนอต่อไปยังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเห็นชอบ เพื่อไปสู่ขั้นตอนการเปิดรับฟังความเห็นจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเร็วต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ