ม.รังสิต คาด GDP ปี 53 เร่งตัวครึ่งปีแรกก่อนแผ่ว แนะอย่ารีบถอนมาตรการกระตุ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 53 ที่ระดับ 2.5-3.5% ครึ่งปีแรกโตได้ต่อเนื่องจากปลายปี 52 แต่มีแนวโน้มอัตราเติบโตชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง แนะรัฐคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เลือกใช้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ไตรมาสแรกจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดีที่สุดในปีนี้ โดยจะเติบโตถึง 6% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี 52 ที่เติบโต 5.8% ในไตรมาส 4/52 ประกอบกับเป็นการขยายตัวจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่หลังจากนี้ไปการขยายตัวจะชะลอลงจากปัญหาเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และข้อจำกัดจากมาตรการการคลัง ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงด้วยจากการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายอนุสรณ์ ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ แต่ควรเตรียมและเลือกใช้ในเวลาที่เหมาะสม เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาการขาดเสถียรภาพทางการเมือง และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์จะมีการตัดสินคดีที่สำคัญ

การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ได้มีการประเมินผลกระทบการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยไว้ 5 กรณี โดยกรณีที่ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ การที่ทุกฝ่ายยอมรับคำพิพากษาของศาลในคดีสำคัญนี้ จะส่งผลให้เรื่องจบลง ประเทศไทยมีความสงบสุข เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพของประเทศไทยได้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตสูงถึง 3.5% และปี 54 จะเติบโต 5- 6%

ส่วนกรณีที่ไม่อยากให้เกิดมากที่สุด คือ เกิดปัญหาความวุ่นวาย ความรุนแรง รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เกิดรัฐประหารในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงนอกวิถีประชาธิปไตย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศให้ถดถอยยาวนานมาก ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่า 1% ถือว่าเป็นระดับที่แย่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเอเชียเริ่มฟื้นมาแล้ว และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องหลายปี

แต่ถ้าหากมีความวุ่นวายแต่ไม่รุนแรง โดยมีการเปลี่ยนรัฐบาลที่มาบริหารประเทศใหม่ มีการยุบสภา กรณีนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนบ้าง โดยจะกระทบโครงการเมกะโปรเจ็คต์ที่อาจจะล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์ เชื่อว่า คงจะไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นช่วงก่อนวันที่ 26 ก.พ.แต่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนั้น และถ้าหากรัฐบาลจะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรเลือกถอนมาตรการการคลัง พร้อมให้ระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง เพราะหากไม่ถอนก็จะเสี่ยงต่อฐานะการคลังของประเทศในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เหมือนกับกรณีของกรีซและสเปน

ด้านมาตรการการเงิน นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ไม่ควรถอนเร็วเกินไป เพราะจะกระทบต่อการส่งออกและท่องเที่ยว ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นหรือไม่ ต้องสัมพันธ์กับปัญหาเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้น ประกอบกับ การส่งออกของไทยต้องเผชิญกับการที่เวียดนามมีโอกาสจะลอยตัวค่าเงินแบบมีกรอบ หลังจากที่ได้ปรับลดค่าเงินมาแล้ว 3 ครั้ง รวมทั้งจีนหากคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดค่าเงินหยวนลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ