โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ชี้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอาจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง หากทรัพยากรทางทะเลถูกทำลาย
รายงานล่าสุดจาก UNEP ระบุว่า บรรดาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยตามแนวชายฝั่ง รวมถึงระบบนิเวศวิทยาของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากปัญหามลภาวะ การรุกรานของสัตว์ต่างสายพันธุ์ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
ผู้อำนวยการบริหารของ UNEP กล่าวว่า เกือบ 75% ของประชากรในภูมิภาคนี้ต้องพึ่งพาพื้นที่ชายฝั่งทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ 80% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั้นมีความเชื่อมโยงกับแหล่งธรรมชาติตามแนวชายฝั่ง ดังนั้น การทำลายระบบนิเวศน์วิทยาและสภาพแวดล้อมตามแนวชายฝั่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ รายงานสภาพแวดล้อมทางทะเลแถบพื้นที่ชายฝั่งของเอเชียตะวันออกที่จัดทำโดย UNEP ระบุว่า เกือบ 40% ของแนวปะการังใต้ทะเล และครึ่งหนึ่งของป่าชายเลนถูกทำลายลง ซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งสองประเภทนี้สร้างรายได้ต่อปีได้ราว 1.125 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
นอกจากนี้ ทะเลในแถบเอเชียตะวันออกบางแห่งยังเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง และเป็นท่าเทียบเรือประมงที่มีการซื้อขายกันอย่างคึกคักมากที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนผลผลิตด้านอุตสาหกรรมการประมงที่ 50% ของผลผลิตทั่วโลก และมีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสูงถึง 80% ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ยูเอ็นระบุว่า น่านน้ำทางทะเลของเอเชียตะวันออกมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของน่านน้ำสากล ซึ่งทางยูเอ็นได้เรียกร้องให้รัฐบาลในเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ประเทศไทย และเวียดนาม ร่วมมือกันรักษาสภาพแวดล้อมทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์