นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนามาตรการแทรกแซงตลาดพืชผลการเกษตรเพื่อป้องกันการทุจริตของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้วในการนำวิธีการประกันรายได้พืชผลทางการเกษตรมาใช้ แต่การประกันรายได้เกษตรกรด้วยการประกันราคาขั้นต่ำยังไม่ตรงจุด ไม่ใช่การแก้ไขรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ควรนำประกันภัยพืชผลและประกันราคามารวมกัน จึงเป็นการแก้ปัญหารายได้เกษตรกรที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใช้นโยบายประกันรายได้พืชผลทางการเกษตรแทนการรับจำนำพืชผลทางการเกษตร ควรเตรียมพร้อมในการหาวิธีป้องกันการเกิดการทุจริตในอนาคต เพราะที่ผ่านมาการแทรกแซงพืชผลด้วยการรับจำนำผลผลิตที่แพงกว่าราคาตลาด โดยใช้ราคาอ้างอิงเป็นเกณฑ์ บรรดาพ่อค้า กลุ่มทุน มักอาศัยผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาอ้างอิง เป็นช่องทางในการทุจริต
"คนไทยเก่งที่สุดในโลกในการหาช่องทางคิดวิธีโกง ทุจริต ถ้าโครงการประกันรายได้ดี แต่ต้องปิดช่องโหว่ ซึ่งสอดคล้องกับการสัมมนาวันนี้ที่จะทำให้ ป.ป.ช.มองเห็นการโกงในรูปแบบต่างๆ ในผลผลิต 6 ชนิด ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ลำไย นมและผลิตภัณฑ์นม อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้ ป.ป.ช.เห็นวิธี แง่มุม และนำไปปรับใช้ในการทำงานเชิงรุก เพื่อปิดช่องโหว่ในการทุจริต หรือให้เกิดช่องโหว่น้อยที่สุด และ ป.ป.ช.จะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้ามาดูแลเรื่องทุจริตสินค้าเกษตร" นายนิพนธ์ กล่าว
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ทางที่ดีรัฐบาลควรเน้นไปที่เรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องชลประทาน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภัยแล้ง ศัตรูพืช เน้นตรงนี้ควบคู่ไปกับการประกันรายได้ และหลีกเลี่ยงนโยบายรับจำนำเข้ามาเกี่ยวข้องถ้าไม่จำเป็น
พร้อมระบุว่า การรับจำนำข้าวรอบใหม่ ต้องดูให้ดีเพราะเชื่อว่าโอกาสการทุจริตจะกลับมาอีก รัฐต้องทำทุกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริต