ก.พลังงาน ลงนามให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 5 แปลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 25, 2010 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เป็นประธานพิธีลงนามให้สัมปทานเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจบนบกจำนวน 4 สัมปทาน ใน 5 แปลงสำรวจแก่กลุ่มบริษัทผู้รับสัมปทาน 5 บริษัท ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้แก่

1. แปลงสำรวจหมายเลข L3/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก และลำปาง ออกให้แก่บริษัท JSX Energy (Thailand) Limited , 2. แปลงสำรวจหมายเลข L50/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสระแก้ว บุรีรัมย์ และนครราชสีมา ออกให้แก่บริษัท Pearl Oil (Resources) Ltd.

3. แปลงสำรวจหมายเลข L52/50 และ L53/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ ออกให้แก่ บริษัท Pearl Oil (Petroleum) Ltd. และบริษัท Carnarvon Petroleum Limited , 4. แปลงสำรวจหมายเลข L31/50 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ออกให้แก่บริษัท Shaanxi Yanchang Petroleum (Group) Co., Ltd.

รมว.พลังงาน กล่าวว่า การให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งนี้จะทำให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพิ่มโอกาสในการค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ๆ รวมทั้งมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น อันเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ

สำหรับบริษัทที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นผู้รับสัมปทาน 5 แปลงสำรวจมีข้อผูกพันที่จะต้องลงทุนดำเนินงานสำรวจช่วงระยะ 3 ปีแรก (พ.ศ. 2553 — 2555) คือ ทำการศึกษาธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ ประมวลผลข้อมูลเดิม การสำรวจวัดความไหวสะเทือนแบบสองมิติ เป็นระยะทาง 1,050 กิโลเมตร การสำรวจวัดความไหวสะเทือนแบบสามมิติ ครอบคลุมพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตร และเจาะหลุมสำรวจ 5 หลุม ซึ่งจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,500 ล้านบาท

นอกจากนั้นในการลงนามสัมปทานครั้งนี้รัฐจะได้รับเงินผลประโยชน์พิเศษในรูปของโบนัสการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย ทุนการศึกษาและฝึกอบรม เป็นเงินอีกประมาณ 52 ล้านบาทด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งทรัพยากรในประเทศในรูปของก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และน้ำมันดิบ คิดเป็นปริมาณเทียบเท่าน้ำมันดิบประมาณวันละ 700,000 บาร์เรล หรือร้อยละ 40 ของความต้องการปิโตรเลียมใช้ภายในประเทศ โดยใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 คือตุลาคม 2552 ถึงมกราคม 2553 สามารถผลิตปิโตรเลียมได้คิดเป็นมูลค่า 153,298 ล้านบาท และรัฐได้รับผลประโยชน์ในรูปค่าภาคหลวงปิโตรเลียมในช่วงเวลาเดียวกันเป็นเงิน 18,937 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ