นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.53 ที่ขยายตัวต่อเนื่อง สศค. จึงคาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 1/53 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาส 4/53 ขณะที่ สศค. จะมีการทบทวนเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 53 ในวันที่ 29 มี.ค.53
สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.53 ยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกในระดับสูงถึง 30.8% โดยเฉพาะสินค้าหลักในกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และการส่งออกในประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งจีน อินเดีย และภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้การส่งออกไปประเทศต่างๆ ถือว่ามีเสถียรภาพ เนื่องจากการส่งออกของไทยพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งน้อยลง โดยมีการกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่มากขึ้นกว่าการส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งส่งผลดีให้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบน้อยลงจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น
"การส่งออกของเรามีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งน้อยลง มีการกระจายการส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งดี เพราะทำให้ความเสี่ยงของประเทศเราน้อยลงจากเหตุการณ์ของประเทศอื่นๆ ที่จะมีผลกระทบต่อไทย" นายสาธิต ระบุ
สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยขยายตัว 29.1% จากการเติบโตของการผลิตสินค้าในกลุ่มรถยนต์, อาหาร-เครื่องดื่ม, สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องหนัง, วิทยุ และโทรทัศน์ โดยพบว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างโดดเด่น คือ วิทยุ, โทรทัศน์, เครื่องปรับอากาศ, แร่โลหะ และปูนซีเมนต์ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตดี เช่น รถยนต์, ปิโตรเคมี ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตในระดับที่ชะลอตัวลง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์, เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุจากพฤติกรรมในการใช้จ่ายของประชาชน
ส่วนดัชนีภาคบริการจากการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนม.ค.53 จำนวน 1.65 ล้านคน หรือขยายตัว 30.2% ปรับตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทุกภูมิภาคเพิ่มขึ้น
"นักท่องเที่ยวในเดือน ม.ค.53 อยู่ที่ 1.65 ล้านคน เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และหากเปรียบเทียบในเดือนม.ค.53 กับเดือนม.ค.ของช่วง 4-5 ปีก่อน จะถือว่ายอดนักท่องเที่ยวในเดือนม.ค.ปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยมาก คือ จีน อาเซียน และรัสเซีย" นายสาธิต กล่าว
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวด้วยว่า ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปัจจัยหนุนของรายได้ภาคเกษตรกรที่สูงขึ้นที่ขยายตัว 14.7% สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัว 37.2% ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น 7.7% และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัว 55.4%
ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวน 3.5 แสนคน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพ.ย.52 อยู่ที่ 45.6% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 50% ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับที่มั่นคงและสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ จากที่ทุนสำรองระหว่างประเทศสิ้นเดือน ม.ค.53 อยู่ในระดับสูงที่ 142.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากกว่า 5 เท่า
"ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนม.ค.53 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้ดี ส่วนการผลิตปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ผลผลิตภาคการเกษตรฟื้นตัว เสถียรภาพในประเทศอยู่ในระดับแข็งแกร่ง" ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว