ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดภาวะขาดแคลนน้ำตาลทรายเริ่มคลี่คลาย-ทิศทางราคาลดลง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 26, 2010 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สถานการณ์เกี่ยวกับปริมาณน้ำตาลทรายไม่เพียงพอต่อความต้องการ และบางพื้นที่ราคาจำหน่ายก็ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงกว่าที่ภาครัฐกำหนดนั้น ไม่น่าจะขยายวงกว้างออกไปกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่น่าจะเริ่มคลี่คลายลงเป็นลำดับ

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายที่ใช้บริโภคในประเทศที่เกิดขึ้นนับจากช่วงต้นปี 2553 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากกรณีที่ 3 ก็คือราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาที่จำหน่ายในประเทศ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา โดยมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 18.71 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 เมื่อเทียบกับปี 2551 ซึ่งราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกอยู่ในระดับเฉลี่ย 13.84 เซนต์/ปอนด์ สำหรับปี 2553 นั้น ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายเดือนมกราคมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 28.94 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 25.29 เซนต์ต่อปอนด์ในเดือนธันวาคมปี 2552 ส่วนราคาตลาดล่วงหน้าที่นิวยอร์ค ปี 2553 ปิด ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่เฉลี่ย 22-27 เซนต์/ปอนด์ โดยมีราคาสูงสุด ณ เดือนมีนาคมที่ระดับ 26.95 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 27 ปี นับจากปี 2527 เป็นต้นมา

ปัจจัย ที่ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เกิดจากผลผลิตน้ำตาลทรายของประเทศผู้ผลิตรายสำคัญปรับลดลง เนื่องจากต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งฝนที่ตกหนัก และฝนแล้งในบางพื้นที่ อาทิ บราซิล อินเดีย จีน รวมถึงไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ผลผลิตอ้อยลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้ 2-3 ล้านตัน

ทั้งนี้ F.O. Licht ได้คาดการณ์ไว้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า ในปีการผลิต 2552/53 ตลาดโลกจะขาดดุลน้ำตาลทราย 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านตันที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน ในขณะที่ บริษัทที่ปรึกษา Kingsman ก็คาดว่า ในปีการผลิต 2552/53 ตลาดโลกจะขาดดุลน้ำตาลทราย 11.92 ล้านตัน ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ต้องการนำเข้าน้ำตาลทรายเพื่อชดเชยผลผลิตที่ลดลง รวมทั้ง เพื่อเก็บสำรองเข้าสต็อกไว้ยามฉุกเฉิน และเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำตาลทรายในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน

และภาครัฐต้องมีมาตรการคุมเข้มเพื่อสยบปัญหาขาดแคลนน้ำตาลทราย โดยกรมการค้าภายในและสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จะร่วมกันดูแลการจำหน่ายน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกำหนด รวมทั้งตรวจสอบมิให้มีการกักตุนน้ำตาลทรายเกิดขึ้น, ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม เพิ่มความเข้มงวด จังหวัดที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายโดยผิดกฎหมาย

ให้คณะกรรมการน้ำตาลทราย กำกับดูแลการใช้น้ำตาลทรายโควตา ค. ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกให้เป็นไปตามสิทธิที่ได้รับ โดยลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ด้วยการตัดสิทธิการใช้น้ำตาลทรายโควตา ค. ระยะเวลา 5 ปี จากเดิมที่กำหนดโทษไว้ 1 ปี

รวมทั้ง ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 46 โรงงาน ระมัดระวังในการจำหน่ายน้ำตาลทรายโควตา ก. ทั้งผู้ซื้อ ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) และผู้ผลิตสินค้าส่งออก ที่ได้รับสิทธิซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค. เพื่อลดโอกาสการซื้อน้ำตาลทรายไปเก็บสำรอง กักตุน หรือลักลอบขายยังประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ ภาครัฐคาดว่า จากมาตรการดังกล่าวข้างต้น จะช่วยลดปัญหาน้ำตาลทรายในประเทศตึงตัวลงได้ แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจมีมาตรการเสริมอื่นๆ อาทิ การให้ผู้ที่มีน้ำตาลทรายที่เกินกำหนด ต้องแจ้งปริมาณซื้อ-ขาย ปริมาณสต็อก สถานที่จัดเก็บ รวมถึงการใช้มาตรการควบคุมการขนย้ายน้ำตาลทราย เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาน้ำตาลตลาดโลกมีทิศทางที่ชะลอตัวลง ภายหลังจากที่ประเทศต่างๆมีความพยายามเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำตาลตามแรงจูงใจด้านราคา ซึ่งสอดคล้องกับ F.O.Licht ได้คาดว่า ในปี 2553/54 ผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มมากขึ้นจากบราซิลและประเทศอื่นๆ เข่น อินเดีย และ ไทย จะทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวลดลง

ขณะที่บริษัทที่ปรึกษา Kingsman คาดว่า ในปี 2553/54 จะมีผลผลิตน้ำตาลโลกส่วนเกิน (Surplus) 3.99 ล้านตัน เทียบกับที่มีผลผลิตน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) 11.92 ล้านตัน ในปี2552/53 เพราะผลผลิตน้ำตาลของบราซิลที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวลดลงภายในเดือนเมษายน 2553 และการซื้อขายน้ำตาลในปี 2553/54 จะมีราคาระดับบนอยู่ในช่วง 20-24 เซนต์ต่อปอนด์ และราคาระดับล่างอยู่ที่ 18-20 เซนต์ต่อปอนด์

สมาคมอุตสาหกรรมน้ำตาลของอินเดีย คาดว่า ปี 2553/54 อินเดียจะมีผลผลิตน้ำตาล 22-23 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้นจากผลผลิตน้ำตาล 15-15.5 ล้านตันของปี 2552/53 ซึ่งผลผลิตดังกล่าว ใกล้เคียงกับปริมาณการบริโภคของอินเดีย ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าน้ำตาลของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลรายใหญ่ของโลกลดลง

จากปัจจัยทางด้านราคาน้ำตาลตลาดโลกที่มีทิศทางปรับลดลง จะช่วยให้ปัญหาปริมาณน้ำตาลขาดแคลนของไทยบรรเทาลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ตามการปรับราคาน้ำตาลทรายของตลาดโลกที่จะค่อยๆปรับลดลง ดังจะพิจารณาได้จากราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายล่วงหน้า ตลาดนิวยอร์ค ในปี 2553 (ปิด ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553) ส่งมอบเดือนมีนาคมอยู่ที่ 26.95 เซนต์/ปอนด์ ก่อนที่ราคาจะค่อยๆลดลงมาอยู่ที่ระดับ 26.33 เซนต์/ปอนด์ในเดือน พฤษภาคม 24.19 เซนต์/ปอนด์ในเดือนกรกฎาคม และ22.29 เซนต์/ปอนด์ในเดือนตุลาคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ