ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดGDPQ1/53ยังโตได้6%ต้องจับตาปัจจัยแวดล้อมในปท.-ตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday February 28, 2010 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยังคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2553 จะสูงกว่าร้อยละ 6.0 ตามตัวเลขคาดการณ์ในเบื้องต้นได้ หากทางการไทยสามารถประคับประคองสถานการณ์ทางการเมืองให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมกราคม 2553 สะท้อนถึงเส้นทางการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจากช่วงปลายปี 2552 ซึ่งมีลักษณะที่กระจายความแข็งแกร่งออกไปในหลายภาคเศรษฐกิจ อาทิ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งนับเป็นทิศทางที่ดีขึ้นสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกร ตลาดแรงงาน รวมถึงอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สำหรับองค์ประกอบสำคัญของดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค และปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์

อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ที่ร้อยละ 5.2 ในเดือนม.ค.2553 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 1.8 ในเดือนธ.ค.2552 เนื่องจากปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยองค์ประกอบหลักของดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้สอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่

ในส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 28.6 ในเดือนม.ค.2553 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 35.9 ในเดือนธ.ค.2552 โดยเป็นการขยายตัวอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกหมวด แต่การขยายตัวจะมีอัตราที่ชะลอลงในอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยงกับการส่งออก ทั้งนี้ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม ขยายตัวร้อยละ 57.1 ในเดือนม.ค. ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 70.6 ในเดือนธ.ค. เนื่องจากการชะลอการผลิตในส่วนของ Hard Disk Drive ซึ่งมีการเร่งผลิตแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกอยู่ระหว่างร้อยละ 30-60 ของการผลิตรวม ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.9 ในเดือนม.ค. (เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ในเดือนธ.ค.) ตามการชะลอตัวของการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน และน้ำตาล ซึ่งเร่งผลิตไปแล้วในเดือนก่อนหน้า ส่วนการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม ขยายตัวร้อยละ 16.5 ในเดือนม.ค. เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.5 ในเดือนธ.ค. และสอดคล้องกับทิศทางการใช้จ่ายของภาคเอกชนโดยรวม

รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.6 ในเดือนม.ค.2553 ต่อเนื่องจากร้อยละ 6.4 ในเดือนธ.ค.2552 โดยเป็นผลมาจากทิศทางที่ดีขึ้นของราคาและปริมาณการผลิตพืชผล โดยดัชนีราคาพืชผลเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 11.5 ในเดือนม.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ในเดือนธ.ค. ขณะที่ ดัชนีผลผลิตพืชผล ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในเดือนม.ค. หลังจากที่หดตัวร้อยละ 3.8 ในเดือนธ.ค.

ขณะที่การส่งออกและการนำเข้า ยังขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และดุลการค้าพลิกลับมาเกินดุลอีกครั้ง 591.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนม.ค.2553 หลังจากที่บันทึกยอดขาดดุล 121.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธ.ค.2552 เนื่องจากการลดลงของมูลค่าการนำเข้าจากเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ

ส่วนดุลบริการฯ บันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนม.ค. (สูงขึ้นจากที่เกินดุล 879.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธ.ค.) ตามรายรับจากการท่องเที่ยว แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงเป็น 1.61 ล้านคนในเดือนม.ค. จากที่สูงถึง 1.68 ล้านคนในเดือนธ.ค.ก็ตาม

ทั้งนี้ เมื่อรวมดุลการค้าที่พลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุลและดุลบริการที่บันทึกยอดเกินดุลเพิ่มขึ้นเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลถึง 2.0 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนม.ค. ต่อเนื่องจากที่เกินดุล 758.1 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนธ.ค.

แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายๆ ตัว โดยเฉพาะ เครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ (การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน) และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังคงมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ แนวโน้มการส่งออกของไทยยังคงขึ้นอยู่กับความมั่นคงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ซึ่งน่าที่จะมีโมเมนตัมที่ชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ดังนั้น คงจะต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตการคลังในแถบยุโรป การควบคุมภาวะฟองสบู่ในจีน และพัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ