ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งเทียบยูโร-ปอนด์ เหตุนลท.วิตกปัญหายอดขาดดุลกรีซ-อังกฤษ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 2, 2010 07:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทะยานขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มี.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านการเงินและยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลในยุโรป รวมถึงกรีซและอังกฤษ ทำให้นักลงทุนแห่ถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับยูโรที่ระดับ 1.3564 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.3625 ยูโร/ดอลลาร์ และทะยานขึ้น 1.69% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ระดับ 1.4990 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.5247 ปอนด์/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 89.070 เยน/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 88.850 เยน/ดอลลาร์ และดีดขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 1.0790 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0734 ฟรังค์/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.65% แตะที่ 0.9006 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.8948 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ทะยานขึ้น 0.22% แตะที่ 0.6990 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.6975 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย

นักวิเคราะห์จาก Foreign Exchange Analytics ในสหรัฐกล่าวว่า นักลงทุนกระหน่ำขายเงินยูโรและเงินปอนด์เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพด้านการเงินและยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลในยุโรป รวมถึงกรีซและอังกฤษ โดยทางการอังกฤษเปิดเผยว่า อังกฤษมียอดขาดดุลงบประมาณ 4.3 พันล้านปอนด์ (6.7 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนม.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมียอดเกินดุล 2.8 พันล้านปอนด์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีหดตัวลง 11.8% จากปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในส่วนของสวัสดิการสำหรับประชาชนที่ว่างงานปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะและยอดขาดดุลงบประมาณของกรีซ แม้มีรายงานว่ารัฐบาลของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เตรียมประกาศแผนการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่กรีซก็ตาม

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2552 ที่ได้รับการปรับทบทวนใหม่ ขยายตัว 5.9% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก่อนหน้านี้ที่ระดับ 5.7% และขยายตัวดีกว่าไตรมาส 3 ที่ระดับ 2.2%

โดยตัวเลขจีดีพีของสหรัฐในไตรมาส 4 ที่ปรับตัวสูงขึ้นมีสาเหตุหลักจากบรรยากาศการลงทุนในภาคเอกชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร รวมทั้งการส่งออกที่ทะยานขึ้น 22.4% ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้น 17.8% ในไตรมาสก่อนหน้านี้

นักลงทุนจับตาดูรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) เดือนก.พ.ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือนก.พ.จะลดลง 20,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 9.8% ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค.ที่ระดับ 9.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ