(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.พ.53 เพิ่มขึ้น 3.7%, Core CPI โต 0.3%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 2, 2010 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ก.พ.53 อยู่ที่ 106.88 เพิ่มขึ้น 3.7% จากเดือน ก.พ.52 และเพิ่มขึ้น 0.56% จากเดือน ม.ค.53

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ก.พ.53 อยู่ที่ระดับ 103.05 เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือน ก.พ.52 และ สูงขึ้น 0.02% จากเดือน ม.ค.53

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ก.พ.53 อยู่ที่ 120.39 เพิ่มขึ้น 5.1% จากเดือน ก.พ.52 และเพิ่มขึ้น 1.39% จากเดือน ม.ค.53 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 98.36 เพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือน ก.พ.52 และเพิ่มขึ้น 0.07% จากเดือน ม.ค.53

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตร อาหารที่มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 35.8%

"การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค แสดงให้เห็นถึงทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจน ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 3-3.5%"ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

นายยรรยง กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ.53 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น โดยได้รับผลกระทบจากดัชนีในหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง หมวดไข่ และผลิตภัณฑ์นม หมวดผักและผลไม้ รวมทั้งผลกระทบจากดัชนีหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เช่น พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร หมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หมวดบันเทิง การอ่านและการศึกษา เป็นต้น

จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าว ที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมนั้น พบว่าในภาคเกษตรกรรม รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ พ.ย.52 มาจนถึงปัจจุบันเป็นผลจากนโยบายการประกันรายได้และการดูแลสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

การฟื้นตัวทั้ง 2 ภาค ทำให้รายได้และกำลังซื้อของประชาชนมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับเพิ่มสูงขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณและราคาสินค้า

อย่างไรก็ดี ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1 ของปี 53 จะอยู่ที่ประมาณ 3.7% ขณะที่ทั้งปี 53 อยู่ที่ 3.0-3.5% ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.3-5.3% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 31-33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลขยายมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนออกไป

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อดัชนีราคาผู้บริโภคในปีนี้ คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งถือว่าจะมีผลมาก เพราะจะต่อเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมอื่น, แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และ การเริ่มขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร

อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงจากนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตช่วยตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไว้จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ และหากพิจารณาแล้วว่าต้นทุนสินค้าในช่วงต่อจากนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าต่อไปอีก 1 ไตรมาส ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามภาวะต้นทุนสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงอยุ่ตลอดเวลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ