นักวิชาการแนะป.ป.ช.ปิดช่องโหว่ทุจริตโครงการประกันรายได้ รุมสับนโยบายรับจำนำ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 2, 2010 14:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการ จากหลายสถาบันรุมสับนโยบายรับจำนำพืชผลเกษตรเปิดช่องทุจริต ส่งผลรัฐสูญเสียงบประมาณเปล่าประโยชน์ เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายอย่างแท้จริง ขณะที่มองว่าการใช้นโยบายประกันราคาเดินมาถูกทาง แต่ ป.ป.ช.ควรศึกษาหาวิธีอุดช่องโหว่ไว้ล่วงหน้าด้วย

การใช้นโยบายการแทรกแซงพืชผลการเกษตรของรัฐถือเป็นนโยบายที่ดี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ แต่กลับเป็นการเปิดช่องโหว่ในการทุจริตทุกระดับ ทั้งในระดับพ่อค้า โรงสี แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะที่เกษตรกรซึ่งรัฐหวังจะแก้ปัญหายังคงยากจน มีรายได้ตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะไม่ได้รับประโยชน์จากการที่รัฐเข้าแทรกแซงอย่างแท้จริง ขณะที่วิธีการในการทุจริตก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีให้แยบยล บิดเบือน ยากต่อการตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น หน่วยงานที่อยู่ในแวดวงสินค้าเกษตรโดยทางตรงและโดยทางอ้อม รวมถึงนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญได้ทำการศึกษาวิจัยเชิงลึก เพื่อให้เป็นข้อมูลกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการทำงานเชิงรุก สร้างระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ เพื่อปิดช่องโหว่ในการทุจริตจากการแทรกแซงตลาดพืชผลการเกษตรหรือไม่ก็ให้เกิดการทุจริตน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณและสูญเสียงบประมาณไปอย่างเปล่าประโยชน์

การแทรกแซงของรัฐที่ผ่านมา คือ การใช้วิธีการรับจำนำข้าวในราคาสูง หรือ การรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาสูง ผลคือทำให้รัฐกลายเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ต้องเก็บสินค้าในปริมาณมากๆและต้องหาทางระบายสินค้า เช่น การประมูล ซึ่งผลที่ตามมาคือส่งผลกระทบให้ราคาในตลาดตกต่ำ ซึ่งโครงการเปิดระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล 5 แสนตันล่าสุดที่ต้องล้มประมูลไปถือเป็นบทเรียนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของโครงการรับจำนำ

สำหรับการระบายข้าว 5 แสนตันของรัฐบาลรอบล่าสุดนั้น มองว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง และมีการบิดเบือนข่าว ทำให้ตลาดวิตกกังวลและทำให้ราคาข้าวในตลาดตกต่ำลงมากจนเกิดการชุมนุมร้องเรียกของเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพราะราคาตกต่ำมาก โรงสีหยุดซื้อข้าวจากชาวนา ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาเรื่องการรับจำนำข้าวโดยตรงยังห่วงว่าอาจจะเกิดการทุจริตขึ้นอีกเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน โครงการรับจำนำยังก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอีกมาก ยกตัวอย่างในส่วนของสินค้าข้าว ข้อดีคือ ชาวนาในโครงการขายข้าวให้รัฐบาลราคาดี ด้านโรงสี โกดัง และผู้ส่งออกบางคน ซึ่งมีจำนวนน้อยที่ทำธุรกิจกับรัฐร่ำรวย ขณะที่ผลเสียคือ ไทยผลิตข้าวคุณภาพต่ำด้วยต้นทุนที่สูงเพื่อนำเข้าโกดังให้เสื่อมสภาพ การจำนำเป็นวิธีช่วยเหลือชาวนาส่วนน้อยเพียง 37% ของชาวนาทั้งประเทศ สิ้นเปลืองเงินภาษีมาก อีกทั้งเงินภาษีบางส่วนรั่วไหลไปยังชาวนาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา พม่า และลาว ลดความสามารถในการแข่งขันและทำลายการแข่งขันในตลาดข้าวไทย ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของข้าวไทยในตลาดโลกลดลงลง เพราะราคาข้าวไทยแพง

*รับจำนำลำไยเมื่อปี 45-47 เป็นตัวอย่างของการทุจริตที่ชัดเจน

ด้านนักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยการดำเนินโครงการรับจำนำลำไยอบแห้งในปี 2545-2546 และมาตรการรับซื้อลำไยสดและว่าจ้างเอกชนแปรรูปลำไยอบแห้งในปี 2547 พบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้รัฐมีภาระขาดทุนทางการเงินรวมทั้งสิ้น 10,168 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่องโครงสร้างตลาดลำไยจากการบิดเบือนกลไกตลาด มีการทุจริตเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิเกษตรกร การตรวจสอบคุณภาพและคัดเกรดลำไย การพิจารณาคัดเลือกบริษัทแปรรูป จนถึงการที่บริษัทส่งมอบลำไยไม่ครบจำนวนที่กำหนด การรับจำนำลำไยลม การระบายลำไยอบแห้งในขั้นตอนการประมูลที่ไม่โปร่งใส เอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจบางกลุ่มบางพวก

แนวทางที่ดีคือรัฐควรแทรกแซงตลาดลำไยให้น้อยที่สุด และไม่ควรใช้นโยบายแทรกแซงราคาที่บิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณ ลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาการทุจิรต ไม่สร้างความเสียหายต่อประสิทธิภาพของระบบตลาดลำไย ควรทีการจัดทำฐานข้อมูลการผลิตและการตลาดลำไย อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

*การจำนำหัวมันพบการทุจริตในทุกขั้นตอน

ด้านนายชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิชาการจาก TDRI กล่าวว่า การวิจัยในส่วนของการจำนำหัวมันสำปะหลังก็เกิดปัญหาการทุจริตคล้ายๆกับสินค้าข้าวและลำไย ที่มีการทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียน เกษตรกรบิดเบือนตัวเลขผลผลิตเกินจริง เกิดการสวมสิทธิโดยเกษตรกรร่วมมือกับลานมันและโรงแป้ง ขาดแคลนข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเกษตรกรและพื้นที่เพาะปลูก

การจำนำและการเก็บรักษา พ่อค้าสวมสิทธิเกษตรกรรับประโยชน์ส่วนต่างราคา โดยซื้อหัวมันนอกโครงการมาขายในโครงการจำนำ พ่อค้าแจ้งกำลังผลิตเกินจริงเพื่อรับค่าจ้างแปรรูป พ่อค้าลักลอบนำผลิตภัณฑ์มันในโครงการไปจำหน่าย และการเก็บรักษาไม่ได้มาตรฐานทำให้เสื่อมคุณภาพหรือมีการปลอมปน

การระบายสินค้า ขาดความโปร่งใสในการประมูล โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะประมูล การไม่ระบุหรือประกาศราคากลางหรือราคาขั้นต่ำ เปิดโอกาสให้มีการเจรจาต่อรองราคา การะบายสต๊อกแบบ"ล้างสต๊อก"โดยมีผู้ชนะการประมูลเพียงไม่กี่ราย

แนวทางแก้ไขที่ TDRI มองคือ เนื่องจากการรับจำนำเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่มีเกษตรกรเพียงบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์ ภาครัฐควรหันมาปรับใช้และพัฒนาเครื่องมือทางการเงินแบบ"Put Option"เพื่อประกันราคาขั้นต่ำแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามายุ่งกับ Physical delivery แต่ให้มีการค้าขายกันไปตามกลไกตลาด, พัฒนาระบบแรงจูงใจเพื่อชะลอการขุดทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ขุดหัวมันออกมาสู่ตลาดมากเกินไปในช่วงเวลาเดียว, พัฒนาฐานข้อมูลเกษตรกรและการผลิตอย่างเป็นระบบและมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ซึ่งอาจใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งการมีฐานข้อมูลที่สมบูรณ์จะช่วยให้สามารถตรวจสอบและลดปัญหาการทุจริตลงได้

รัฐควรเร่งสร้างความรู้ให้แก่เกษตรกรและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นมืออาชีพรวมทั้งส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะการผลิตเอทานอลเพื่อใช้ผลิตพลังงานทางเลือก ซึ่งมีอุปสงค์รองรับมากอยู่แล้ว

ทางแก้ไขคือรัฐต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการค้าข้าวด้วยการเลิกนโยบายจำนำ การปลดแอก จะทำให้ชาวนาโรงสีผู้ส่งออกผลิตข้าวและค้าขายเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ใช่ผลิตและค้าขายกับรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่ม

ขณะที่ผลวิจัยมองว่าการรับจำนำสินค้าเกษตรก่อให้เกิดการทุจริตในสินค้าทุกประเภทและอยากให้มีการยกเลิกโครงการรับจำนำ และเปลี่ยนมาใช้นโยบายการการแทรกแซงสินค้าเกษตรด้วยวิธีอื่น ซึ่งมองว่าการประกันรายได้เกษตรกรเป็นหนทางที่ดีที่สุดในเวลานี้ และรัฐบาล"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"กำลังเดินมาถูกทางแล้ว

การแทรกแซงตลาดพืชผลการเกษตรด้วยนโยบายประกันรายได้เกษตรกร น่าจะเป็นมาตรการที่ถูกออกแบบมาเพื่อชาวนาอย่างแท้จริง ซึ่งการประกันรายได้ที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้คือ การประกันความเสี่ยงราคาเพื่อบรรเทาความเสียหายจากภาวะราคาตกต่ำจนขาดทุน แต่ถ้าจะให้ดีก็ควรหาแนวทางที่รัดกุมรวมถึงวิธีการป้องกันการทุจริตในภายหน้าไว้ด้วย เพราะมองว่าหากรัฐบาลให้มาตรการแทรกแซงสินค้าเกษตรด้วยวิธีนี้ซ้ำๆกันและใช้ตลอดไป ย่อมมีนักแสวงหาประโยชน์บางคนบางกลุ่มคิดหาวิธีการโกง ฉ้อฉล บิดเบือนตลาด ด้าน ป.ป.ช.เองก็ควรนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาหรืออุดรอยโหว่ที่จะก่อให้เกิดการทุจริตและนำไปความเสียหายต่อประเทศชาติในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ