อาเซียนผนึกกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เล็งขยายสู่จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 2, 2010 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแร่ธาตุอาเซียน (ASOMM) ครั้งที่ 10 และประชุมคณะทำงาน ASOMM และการประชุม ASOMM+3 ซึ่งมีผู้แทนจาก 10 ประเทศอาเซียน พร้อมด้วยจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมประชุม

การประชุมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างชาติอาเซียนในการสนับสนุนและส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ด้านวิชาการ, การสำรวจ, การผลิต และการตลาด เพื่อให้ได้ผลผลิตแร่ธาตุที่มีคุณภาพไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ธาตุระหว่างกันด้วย

โดยปัจจุบันความร่วมมือด้านแร่ธาตุของอาเซียนขยายขอบเขตไปนอกกลุ่มอาเซียนอีก 3 ประเทศ คือ จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรับการถ่ายทอด การพัฒนา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้กับชาติอาเซียน อีกทั้งขยายโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น

นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า อาเซียนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรแร่ ได้แก่ ดีบุก, สังกะสี, ทองแดง, อะลูมิเนียม, นิเกิล, เหล็ก รวมทั้งแร่พลังงาน เช่น ถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอาเซียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการค้าขายภายในกลุ่มปีละกว่า 5 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ประเทศไทยซื้อขายแร่กับชาติอาเซียนประมาณปีละ 36,000 ล้านบาท และผลจากการที่ไทยกำลังขยายผลทางด้านอุตสาหกรรม จึงต้องการใช้วัตถุดิบแร่ปริมาณมาก เพราะกำลังการผลิตไม่พอกับความต้องการใช้ ขณะที่ในด้านการจัดหาจากแหล่งอาเซียนด้วยกันถือว่ามีความเหมาะสม เพราะสามารถควบคุมต้นทุนค่าขนส่งได้

"การประชุมครั้งนี้จึงเป็นช่องทางที่ดีในการประสานประโยชน์จากการสร้างความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนด้านแร่ระหว่างกัน โดยไทยจะผลักดันให้เอกชนออกไปลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในชาติอาเซียนได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น จากปัจจุบันมีการเข้าไปทำเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย พม่า และลาว ส่วนเหมืองแร่สังกะสีในลาวและเวียดนาม แร่ดีบุกในอินโดนีเซียและพม่า" นายสมเกียรติ ระบุ

สำหรับกรอบความร่วมมือด้านแร่ธาตุอาเซียนมี 4 ด้าน คือ ความร่วมมือด้านข้อมูลแหล่งแร่และฐานข้อมูล, ความร่วมมือด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านแร่, ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และความร่วมมือด้านการพัฒนาแร่อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ