ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 53 ครั้งที่ 3 ให้เพิ่มวงเงินอีก 43,995.08 ล้านบาท เป็น 1,748,662.70 ล้านบาท จากเดิมที่ 1,704,707.62 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินใหม่ 13,955.08 ล้านบาท และการบริหารหนี้ 30,000 ล้านบาท
การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 3 เป็นการปรับปรุงแผนงานย่อย จำนวน 2 แผน ได้แก่ แผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และ แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ
การปรับปรุงแผนฯ ครั้งนี้ ได้บรรจุวงเงินการบริหารจัดการหนี้เงินกู้สำหรับสนับสนุนโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 55 ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่ได้กู้เงินในปีงบประมาณ 52 ไปแล้ว 30,000 ล้านบาทในแผนการบริหารและจัดการหนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความั่นคงทางเศรษฐกิจ และขอเพิ่มให้กระทรวงการคลังสามารถบริหารจัดการหนี้ที่เกิดตามแผนการกู้เงินใหม่ในปีงบฯ 53 ที่ได้บรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว 320,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินดำเนินการภายใต้แผนทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงด้วยวธีการที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา
ส่วนการปรับเพิ่มวงเงิน 13,955.08 ล้านบาท เป็นการกู้เงินใหม่ภายใต้แผนเงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ แบ่งเป้นการปรับเพิ่มวงเงินกู้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง จำนวน 11,390.24 ล้านบาท ประกอบด้วย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อชดเชยยอดค้างชำระสำหรับนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทย
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอปรับเพิ่มวงเงินกู้ จำนวน 2,161.83 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดในปีงบประมาณ 53, สำนักธนานุเคราะห์ ขอบรรจุวงเงินกู้ 400 ล้านบาท เพื่อเป้นเงินทุนรองรับสำหรับใช้หมุนเวียนรับจำนำในช่วงเปิดภาคการศึกษาในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.53
สำหรับระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP หากมีการดำเนินการตามแผนฯที่ได้ปรับปรุงในครั้งนี้ทั้งหมด คาดว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 49.81 และมีสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณร้อยละ 12.61 โดยในปี 53 ใช้สมมติฐานให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่ากับร้อยละ 2.5 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.0 ยังคงอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง