ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวระยะสั้น แนวโน้มเร่งตัวใน H2/53

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 2, 2010 18:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ชะลอตัวลงในระยะสั้น และจะกลับมาเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 53 เนื่องจากทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ต่อสินค้า เช่น น้ำมัน และสภาพอากาศที่เลวร้ายในภูมิภาคต่างๆ ของโลกจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้ระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขยับสูงขึ้น ซึ่งทิศทางเงินเฟ้อดังกล่าวมีผลต่อการกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายด้านราคาสินค้าของทางการ

อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.53 ที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 3.7% ถือเป็นช่วงระยะสั้นที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงจากผลของฐานที่เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารสดจะชะลอตัวลงในเดือน มี.ค.หลังผ่านเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว ซึ่งน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 2-3 เดือนจากนี้จะอยู่ในระดับไม่เกิน 3.5% แม้รัฐบาลจะยกเลิกบางมาตรการเรื่องค่าครองชีพไปแล้วก็ตาม แต่ประเด็นที่ต้องจับตาคือราคาน้ำมันที่อาจปรับสูงขึ้น และภาวะภัยแล้งที่จะส่งผลให้ราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มที่จะเริ่มเข้าสู่ระยะแรกของช่วงขาขึ้นในไตรมาสที่ 2/53 โดยคาดว่านับจากนี้จะค่อยๆ ขยับขึ้นกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่ในระยะแรก คือในช่วงไตรมาส 2/53 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงไม่เกิน 1.5% แต่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี และจะเข้าใกล้กรอบบนของกรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 3.0% มากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 53 ไว้ที่ระดับเดิม โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภค โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจเพิ่มขึ้น 1.5-2.5%" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดว่าจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. ซึ่งการปรับทิศทางนโยบายการเงินมาสู่การเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอยู่กับความเร่งของแรงกดดันเงินเฟ้อ และทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นสำคัญ ซึ่งแม้ขณะนี้มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแรงขึ้น แต่แนวโน้มระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ

ขณะเดียวกัน การตัดสินใจของรัฐบาลต่อการดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคอาจเผชิญความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพแก่ประชาชนที่ยังคงไว้อยู่ 4 มาตรการจะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.53 ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานจะสิ้นสุดเดือนส.ค.53 ซึ่งการตัดสินใจว่าจะขยายอายุมาตรการออกไปอีกหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่จะมีผลต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน

ขณะที่มาตรการตรึงราคาพลังงาน รัฐอาจมีต้นทุนในการรับภาระส่วนนี้เพิ่มขึ้นหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรลต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้การตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ระดับ 30 บาท/ลิตรเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเข้าไปรับภาระการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น หากต้องเข้ามาช่วยอุดหนุนส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลในระดับที่เพิ่มขึ้นอีกทางก็อาจจะมีผลต่อฐานะของกองทุนในระยะข้างหน้าได้

"หากทิศทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น การทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมาตรการที่อุดหนุนเป็นการพิเศษลงก็น่าจะทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากนัก แต่หากเกิดสถานการณ์ที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องสะดุดหรือชะลอลงไป การพิจารณาถอนมาตรการเศรษฐกิจอาจต้องเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากมากขึ้น" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ