ดัชนีต้นทุนภาคธุรกิจ ม.ค.-ก.พ.53 ปรับตัวดีขึ้น แต่ระยะยาวอาจลดแรงบวกลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจ(FCI) ในเดือนม.ค.-ก.พ.53 มีค่าเฉลี่ยที่ 124.2 ซึ่งแม้ว่าจะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน (Y-o-Y) ที่ชะลอลงเล็กน้อยจาก 9.9% ในไตรมาส 4/52 มาที่ 7.4% แต่ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากผลของฐานที่สูงของปีก่อน ขณะที่ ค่าเฉลี่ยในช่วงสองเดือนแรกของปี 53 อยู่สูงกว่าของไตรมาส 4/52 ที่ 122.9

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นดัชนี FCI อาจสามารถรักษาทิศทางในขาขึ้นได้ นั่นคือ ต้นทุนทางการเงินปรับตัวลดลง หากอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ยังไม่ได้ปรับขึ้นมากนักบนสมมติฐานแรก คือ ตลาดอาจยังให้น้ำหนักกับโอกาสที่ปริมาณอุปทานพันธบัตรจากภาครัฐอาจออกมาต่ำกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้ ตามการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่สูงกว่าประมาณการเดิม

และ นักลงทุนในตลาดโลกอาจยังมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าแนวทางการเยียวยาปัญหาวิกฤตการคลังในยุโรปจะมีความชัดเจนมากขึ้น หรือประเทศที่ประสบปัญหาการคลังอย่างหนัก อาทิ กรีซ จะผ่านพ้นช่วงครบรอบกำหนดการชำระคืนหนี้จำนวนหลายหมื่นล้านยูโรในเดือนเมษายนและพฤษภาคมนี้ไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่

ขณะที่ แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มจะผ่อนคลายลงในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า จากราคาอาหารสดที่ชะลอลงหลังเทศกาลตรุษจีน ราคาพลังงานที่อาจแกว่งตัวในกรอบที่จำกัด และการคงมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพส่วนใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จะมีผลกระทบทางตรงและทางอ้อมมายังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ แม้ในเบื้องต้นอาจมีเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในช่วงประมาณกลางเดือน มี.ค.53 แต่หากสถานการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ โดยไม่มีความรุนแรง ตลาดหุ้นไทยก็อาจตอบรับในเชิงบวก ดังเช่นที่ปรากฏในช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวอาจช่วยหนุนดัชนี FCI ในภาพรวมได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อมองยาวออกไปคงต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันดัชนี FCI และต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ ก็ยังหนีไม่พ้นความไม่แน่นอนทางการเมืองและกรณีมาบตาพุด เนื่องจากนักลงทุนยังจับตามองคำตัดสินและทางออกของหลายคดีความทางการเมืองสำคัญที่เหลือ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหากรณีมาบตาพุด

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าว ผนวกกับการจับตาทิศทางเศรษฐกิจโลก หลังรัฐบาลชาติต่างๆ ทยอยถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเป็นพิเศษที่ใช้พยุงและพลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านั้น อาจบดบังแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ทยอยปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น และกดดันให้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่จังหวะการปรับฐานได้

อีกทั้ง การส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ซึ่งอาจมีความชัดเจนขึ้น เมื่อ ธปท.มั่นใจว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเริ่มมีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งแล้ว จนอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะถัดไป ทั้งนี้ การส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ในการปรับขั้วเชิงนโยบายดังกล่าว นอกจากจะกระตุ้นให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ขยับขึ้นแล้ว ก็ยังมีอิทธิพลต่อการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ