"พอล วอล์คเกอร์" ชี้ยังเร็วเกินไปหากสหรัฐถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะนี้

ข่าวต่างประเทศ Monday March 8, 2010 07:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพอล วอล์คเกอร์ นายพอล วอล์คเกอร์ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า เป็นการเร็วเกินไปหากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำหนดนโยบายของสหรัฐจะถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและยุติการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินโลก

"นี่ยังไม่ใช่เวลาที่ดีที่จะรุกถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการรด้านการเงิน เนื่องจากอัตราว่างงานในสหรัฐยังสูงมาก ดังนั้นผมคิดว่าเราต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบที่สุด และควรถอนมาตรการในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดด้วย" วอล์คเกอร์กล่าว

วอล์คเกอร์ยังกล่าวด้วยว่า "คณะทำงานของโอบามาอยู่ในช่วงเวลาแห่งการทดสอบอย่างแท้จริงว่าจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้สหรัฐกลับไปเผชิญกับวิกฤตการณ์การเงินอีก สิ่งที่สภาคองเกรสต้องก้าวผ่านไปให้ได้ในเวลานี้คือการเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็น 'ตัวตั้ง' ไม่ใช่การแบ่งขั้วว่าเป็นเดโมแครทหรือรีพับลิกัน หากสภาคองเกรสมีจุดยืนที่เหมือนกันแล้วก็จะช่วยให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ที่ผ่านมาได้เกิดภาวะเสียงแตกในสภาคองเกรสก็เพราะมัวแต่แบ่งขั้วเลือกข้าง"

การแสดงความคิดเห็นของวอล์คเกอร์มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่เฟดและกระทรวงการคลังสหรัฐพยายามถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) 0.25% เป็น 0.75% หลังจากมีข้อมูลยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วสุดในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวในอัตรา 5.7% ต่อปี ซึ่งทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี

อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ระดับ 0-0.25% ต่อไป เพื่อกระตุ้นอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืนที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากการกู้ยืมระหว่างกัน ส่วนอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานคืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เฟดเรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งกู้ยืมโดยตรงจากเฟด

ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐพยายามหาทางถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเกรงว่ายอดขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากรัฐบาลได้นำเงินไปใช้ในการกระตุ้นการใช้จ่าย การทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน และสนับสนุนโครงการประกันสุขภาพ ซึ่งทำให้คณะทำงานของโอบามากังวลว่ายอดขาดดุลงบประมาณอาจพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ