(เพิ่มเติม) ครม.ศก.คาดที่ปรึกษาได้ข้อสรุปโครงการเหล็กต้นน้ำอีก 8 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 8, 2010 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุฒิพงษ์ ปุณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) รับทราบรายงานความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ระยะที่ 1 ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาในเดือนนี้ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเวลาประมาณ 8 เดือน

ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจให้ความเห็นว่าควรจะมีการพิจารณาภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็ก รวมทั้งบทบาทที่เหมาะสมของประเทศไทย และที่สำคัญ คือ ภาระการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมต่อทรัพยกรธรรมชาติและประชาชนในพื้นที่

รวมทั้งควรศึกษาทางเลือกระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกับอุตสาหกรรมบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศโดยรวม เพื่อนำมาประกอบเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของรัฐบาลต่อไป

"ถ้าจะต้องปรับพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลมาทำธรกิจด้านบริการการท่องเที่ยว เม็ดเงินที่เข้ามาในประเทศอาจจะไม่ได้น้อยไปก่ว่าการก่อสร้างอุตสาหกรรมหนัก เพราะฉะนั้นต้องนำจุดนี้ไปประกอบสำหรับการตัดสินใจในการลงทุนต่อไป" นายพุฒิพงษ์ กล่าว

อนึ่ง สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยได้ศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีศักยภาพไว้ 4 จังหวัดตามชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และชายฝั่งทะเลภาคใต้ ด้านอ่าวไทย เช่น จ.จันทบุรี จ.ระยอง จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และแนวคิดของโครงการนี้ เพื่อให้การดำรงชีวิตของคนในพื้นที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด และมีแนวทางการชดเชยเป็นที่ยอมรับ มีการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม รวมทั้งมีแนวทางในการบริหารจัดการโครงการที่เหมาะสม และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กลับไปทบทวนรายละเอียดผลการศึกษาสภาพความพร้อมของพื้นที่ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงานโครงการจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ระยะที่ 1 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอมาทั้ง 4 จังหวัด โดยนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่าเมื่อได้พิจารณาจากรายชื่อแต่ละจังหวัดแล้วมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะก่อสร้างอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ส่วนใหญ่อาจเห็นว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนได้

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ยังมีความเห็นร่วมกันที่ให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างการจัดทำอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าหากพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการอาจมีตัวเลขที่ไม่แตกต่างกันมากนักแต่ได้รับการยอมรับในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนมากกว่า เพื่อเป็นทางเลือกหรือทางออกให้กับระดับนโยบายเพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อไปให้ชัดเจน

"กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอต่อที่ประชุมว่า ได้คัดเลือกพื้นที่ไว้หลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมฝั่งชายทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ ใช้พื้นที่ประมาณ 4,000-5,000 ไร่ต่อแห่ง การคมนาคมมีความสะดวก อยู่ในกรอบของกฎหมายท้องถิ่น ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว ไม่อยู่ในเขตหรือใกล้กับอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเหมาะสมกับการลงทุนเป็นอย่างมาก แต่รัฐมนตรีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมควรศึกษาความชัดเจนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะหากไปชักชวนต่างชาติมาลงทุนซึ่งต้องใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาทแล้ว ในอนาคตอาจมีปัญหาตามมา" แหล่งข่าว กล่าว

นอกจากนี้ ตัวแทนของสศช. ยังได้รายงานข้อมูลการศึกษาการตอบรับของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการฯ นี้อย่างไม่เป็นทางการ พบว่าประชาชนยังมีความรู้สึกไม่เห็นด้วยที่จะมีการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ เบื้องต้นที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ สศช. และกระทรวงอุตสาหกรรม กลับไปทำรายละเอียดเรื่องให้ชัดเจนและนำกลับเข้ามาเสนอให้พิจารณาอีกครั้งโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในข่ายการคัดเลือกให้ดำเนินการโครงการเหล็กขั้นต้นระยะที่ 1 คือพื้นที่ชายฝั่งตำบลเกาะเปริด-ปากแม่น้ำเวฬุ เกาะเปริด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี, พื้นที่บ้านหัวคุ้ง ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา, บางเก่า-ปะเสยาวอ-บางตาหยาด อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และชายฝั่งหาดหมู่บ้านปรีชา ซอยเนินกลางตะพง อ.เมือง จ.ระยอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ