EU เตรียมเสนอตั้งกองทุนแบบเดียวกับ IMF เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่เป็นหนี้

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 9, 2010 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เปิดเผยวานนี้ว่า จะมีการเสนอให้จัดตั้งกองทุนการเงินยุโรป ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานแบบเดียวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบภาวะหนี้สิน ดังเช่นที่กรีซกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

อามาเดอู อัลตาฟัจ ทาร์ดิโอ โฆษกของอีซี ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวในการแถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการพร้อมที่จะเสนอให้มีการจัดตั้งเครื่องมือดังกล่าวขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการกำกับดูแลภายในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร และเผยด้วยว่า ทางคณะกรรมาธิการกำลังเจรจากับรัฐบาลของประเทศสมาชิกที่ใช้เงินสกุลยูโรเกี่ยวกับแผนการดังกล่าว และตั้งเป้าที่จะหาข้อตกลงเกี่ยวกับรายละเอียดให้ได้ภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้

ข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนการเงินยุโรปขึ้นนั้น ได้รับการผลักดันหลังจากที่วิกฤตการหนี้สินของกรีซได้สั่นคลอนเสถียรภาพในตลาดการเงินยุโรป และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในเงินยูโร

นักวิเคราะห์กล่าวว่า วิกฤตดังกล่าวได้เผยให้เห็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรงของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร ซึ่งรวมถึง การขาดระบบการจัดการที่ดีในกลุ่มเศรษฐกิจที่ใช้สกุลเงินร่วมกัน และการขาดวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้สินของสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งส่งผลต่อเสถียรภาพโดยรวมของทั้งกลุ่ม

นายทาร์ดิโอเผยด้วยว่า โอลลี เรห์น กรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจและการเงินของอียู จะแจ้งให้เพื่อนสมาชิกในคณะกรรมาธิการได้รับทราบในวันนี้ถึงประเด็นที่กำลังหารือกันอยู่เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุน

โดยในการให้สัมภาษณ์กับไฟแนนเชียล ไทม์ส ฉบับวานนี้ นายเรห์นได้เผยถึงแผนการจัดตั้งกองทุนแบบไอเอ็มเอฟในยุโรปเป็นครั้งแรก แต่ย้ำว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านทางกองทุนที่คาดหมายว่าจะจัดตั้งขึ้นนี้ จะต้องมีเงื่อนไขที่เข้มงวด

ทั้งนี้ ถ้าแผนการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกและเกิดขึ้นจริง ก็จะถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการยกเครื่องครั้งใหญ่ที่สุดของกฎระเบียบที่กลุ่มยูโรโซนใช้กันมาตั้งแต่เริ่มสถาปนาสกุลเงินดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2542

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินยุโรปอาจได้รับการคัดค้านจากไอเอ็มเอฟและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างมากในไอเอ็มเอฟ โดยในระหว่างที่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 2540 - 2541 ญี่ปุ่นได้เคยผลักดันข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนการเงินเอเชียเช่นกัน แต่ข้อเสนอดังกล่าวมีอันต้องล้มพับไปเนื่องจากถูกคัดค้านจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเกรงว่ากองทุนดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์ขัดแย้งหรือทับซ้อนกันกับไอเอ็มเอฟ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ