ครม.ขยายเวลาให้ ICT อีก 60 วัน สอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานทีโอที-กสท.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 9, 2010 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) ขอขยายระยะเวลาในการพิจารณาเรื่องการแก้ไขสัมปทานของของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท.โทรคมนาคม(CAT) ตามแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ออกไปอีก 60 วัน จากที่กระทรวง ICT เสนอขอขยายเวลาไว้ 90 วัน

โดยเหตุที่กระทรวง ICT ขอขยายเวลาการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเนื่องจากล่าสุดได้มีพิพากษาของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้ยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาสัมปทาน

"เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยรอบคอบตามแนวทางคำพิพากษาของศาลฎีกา และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ กระทรวง ICT ได้ขอขยายเวลาการพิจารณาอีก 90 วัน แต่ ครม.อนุมัติให้เพียง 60 วัน" นพ.ภูมินทร์ กล่าว

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. แจ้งว่า กรณีนี้นายกรัฐมนตรีเห็นว่า แม้ รมว.ไอซีที แจ้งว่าจะต้องรอคำพิพากษาจากศาลฎีกาฯ แต่ครม.ขอให้เร่งดำเนินการเนื่องจากเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะเดียวกันรมว.ไอซีที ระบุว่า การที่ขอให้ครม.ขยายไปอีก 90 วัน เนื่องจากศาลฎีกาเปิดโอกาสให้มีการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เพราะหากจะดูคำพิพากษาก็อาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาอีก 30 วัน

"ครม.เศรษฐกิจถึง 3 ครั้ง ประกอบด้วย วันที่ 11 ธ.ค.52 วันที่ 28 ธ.ค.52 และวันที่ 5 ก.พ.53 ได้เร่งรัดให้กระทรวงไอซีที กำกับแก้ไขปัญหากรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานตามแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของภาครัฐ พ.ศ.2535 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วอย่างเคร่งครัด โดยมติครม.ครั้งล่าสุด 5 ก.พ.52 แจ้งให้ ไอซีทีดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 90 วัน" แหล่งข่าว ระบุ

รายงานแจ้งว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอ ครม.เศรษฐกิจในวันที่ 15 มี.ค. เพื่อเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม ของบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคม

กระทรวงการคลัง เคยทำรายงานสรุปครม.เศรษฐกิจไว้ว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมที่ทีโอที และ CAT มอบให้กับบริษัทเอกชนโดยที่ไม่ผ่านขั้นตอนของกฎหมายร่วมทุนปี 2535 ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น ทำให้รัฐเสียรายได้คิดเป็นเงินถึง 1.38 แสนล้านบาท แยกเป็นความเสียหายของทีโอที 8.73 หมื่นล้านบาท และความเสียหายของ CAT อีก 5.06 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ