นายมิยาโกะ สึดะ หนึ่งในคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาเตือนเรื่องหนี้จำนวนมหาศาลของประเทศ พร้อมกับชี้ว่า ปัญหาระดับโครงสร้างจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ หากไม่มีการแก้ไข
นายสึดะ กล่าวว่า หากไม่มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน และการคาดการณ์เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความลำบากแล้ว ก็จะเกิดความไม่แน่นอนในการวางแผนเกี่ยวกับการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนในอนาคต
บอร์ดบีโอเจรายนี้ได้ออกมาแสดงความเห็นหลังจากที่รัฐบาลได้กดดันแบงค์ชาติให้ใช้มาตรการในการแก้ปัญหาเงินฝืดมากขึ้น ซึ่งทางแบงค์ชาติญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า กว่าที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดได้อาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า สึดะ กล่าวว่า แบงค์ชาติญี่ปุ่นจะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนต่อไป เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืด แต่ประเด็นเรื่องโครงสร้างของญี่ปุ่น เช่น หนี้จำนวนมหาศาลและประชากรสูงวัย ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขได้นั้น ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินแบบผ่อนปรนของประเทศ
หนี้สาธารณะของญี่ปุ้นอยู่ที่ 189.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศนับตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นสถิติที่ย่ำแย่ที่สุดในบรรดาประเทศ G7 และยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าหนี้ของกรีซเช่นกัน
ทั้งนี้ บีโอเจมีกำหนดการประชุมในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ ขณะที่ตลาดจับตาว่า แบงค์ชาติญี่ปุ่นจะตัดสินใจเพื่อผ่อนปรนด้านการเงินมากกว่านี้หรือไม่