คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25%ต่อปีต่อไป แต่มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ 3 ในวันที่ 21 เมษายน 2553
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า ความเสี่ยงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่ประเมินว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไปตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความจำเป็นที่ต้องมีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเช่นในปัจจุบันได้ลดน้อยลงไปมาก ซึ่งในบางประเทศเริ่มทยอยลดการผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินลง
แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่าความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ เช่นอัตราการว่างงานที่สูง และปัญหาหนี้ภาครัฐในบางประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดต่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในประเทศ ที่อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ก่อนจะพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อไป
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค.53 ทั้งการส่งออกและการบริโภค โดยเฉพาะการบริโภคกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ โดยได้รับการสนับสนนรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งนโยบายจากภาครัฐ
ขณะที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดลงเทียบกับการประชุมครั้งก่อน แม้ว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็น 3 เดือนติดต่อกัน โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.7% เป็นผลจากราคาน้ำมันและอาหาร ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่คณะกรรมการฯ มองว่าเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไปตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
แรงกดดันจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กระทบต่อการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะได้รับผลกระทบจากการเร่งตัวของน้ำมันในรอบที่ 2 และ 3 ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คิดว่าจะดีต่อเนื่อง โดยไตรมาส 4/52 เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ดังนั้น แรงกดดันด้านอุปสงค์ก็จะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกดดันอัตราเงินฟ้อพื้นฐานให้เร่งตัวขึ้นทั้งปีนี้และปีหน้า
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในการประชุม กนง.ครั้งหน้าถ้าไม่มีอะไรมากระทบเศรษฐกิจแรง ๆ และตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยการพิจารณาดอกเบี้ยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็มีโอกาสสูงที่ กนง.จะปรับดอกเบี้ยอาร์/พีในระยะต่อไป ซึ่งการประชุมครั้งหน้าจะมีวันที่ 21 เม.ย.ดังนั้น นับจากวันนี้ถึงวันประชุมดังกล่าวก็จะมีการติดตามปัจจัยรอบด้านทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำมาประมวลดอกเบี้ย
แต่อย่างไรก็ตาม กนง.ยังให้ความสำคัญด้านเสถียรภาพด้านราคาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจและปัจจัยรอบข้างนั้น ก็จะติดตามดูตลอดเวลา
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของมาเลเซียนั้น เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยที่ กนง.นำมาพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้บางประเทศก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ไม่ใช่เป็นการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น แต่เป็นการผ่อนคลายการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธปท.ไม่ห่วงภาวะเงินทุนไหลออก จากกรณีที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต่างประเทศ และจากการติดตามดูอยู่ยังเห็นว่ามีความเคลื่อนไหวปกติ
นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ ไม่ได้มีแรงกดดันจากกรณีที่นายกรัฐมนตรีมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ได้ดีมาก แต่กนง.พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ ความเสี่ยงของเสถียรภาพด้านราคา และความเสี่ยงของการใช้ดอกเบี้ยต่ำ ที่จะมีผลต่อภาวะความสมดุลของเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาการเมืองยังยากที่จะประเมินผลกระทบในขณะนี้เพราะมีความไม่แน่นอนสูง