นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นว่า ได้มีโอกาสหารือร่วมกับ นายฮิโรทากะ อากามัตสุ (Mr. Hirotaka AKAMATSU) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น (MAFF) โดยมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) ความร่วมมือทางด้านประมง ฝ่ายไทยสนใจในความร่วมมือด้านการแปรรูปปลาปักเป้าให้ปลอดภัยต่อการบริโภค การพัฒนาด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลในประเทศไทย เช่น การเพาะเลี้ยงหอยมุก การเพาะเลี้ยงปลาทูน่า และการเพาะเลี้ยงปลาลิ้นหมา เป็นต้น รวมทั้งการศึกษาวิจัยร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำปะการังเทียม ซึ่งญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญมาก โดยฝ่ายญี่ปุ่นยินดีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประมงดังกล่าว
2) การนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกแบบสด ซึ่งได้แจ้งให้ทางญี่ปุ่นทราบว่าประเทศไทยได้ปลอดเชื้อโรคระบาดไข้หวัดนกแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 และขอให้ทางญี่ปุ่นส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบระบบและอนุญาตการนำเข้า ซึ่งทางญี่ปุ่นจะพิจารณาให้ผู้เชี่ยวชาญมาตรวจประเมินสภาวะการปลอดโรคไข้หวัดนกของไทยต่อไป
3) การนำเข้าส้มโอ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยื่นขอให้ญี่ปุ่นพิจารณานำเข้าส้มโอตั้งแต่ ปี 2548 และฝ่ายญี่ปุ่นจะส่งคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบส้มโอพันธุ์ทองดี ในต้นเดือนมีนาคมนี้
4) โครงการประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลไทยมีโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการดำรงชีพ และทราบว่าประเทศญี่ปุ่นมีการดำเนินงานด้านนี้ด้วย จึงเสนอที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อประกอบการดำเนินการวางแผนสำหรับเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรต่อไป นอกจากนี้ได้ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนการดำเนินงานของไทยในโครงการนำร่องเพื่อระบบการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการหลัก โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในความตกลงได้ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามที่ประเทศกัมพูชาในปลายปีนี้
นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับประธานสันนิบาตสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่นในแนวทางความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ของไทยและสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสหกรณ์การผลิตที่มีสมาชิกมากกว่า 700 สหกรณ์ ภายใต้กรอบความตกลง JTEPA โดยมีการหารือร่วมกันใน 6 แนวทาง ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและสหกรณ์ของไทยและญี่ปุ่น 2. การร่วมลงทุนต่างๆ 3. การปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยสินค้า 4. การส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการค้าสินค้าเกษตรและ OTOP 5. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และ 6. การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ
ทั้งนี้ ได้มีการเริ่มดำเนินโครงการในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้ว คือโครงการผู้นำชุมชน ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษด้านความเชื่อมโยงในครั้งต่อไป เห็นควรมีการหารือในความร่วมมือที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เพื่อเร่งรัดในการพัฒนาเกษตรกรและและองค์กรเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งต่อไป
สำหรับงาน Thai Tasty Ready-to-Eat Food ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์อาหารพร้อมบริโภคที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตทั้งคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อเป็นการเสนอทางเลือกในการบริโภคอาหารที่เน้นคุณภาพและมาตรฐานที่ตอบสนองต่อสภาพวิกฤติเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2009 และยังแสดงให้เห็นศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารพร้อมบริโภคจากประเทศไทย
นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสทางด้านธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย (สัญลักษณ์ Q) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในมาตรการความปลอดภัยทางอาหารของไทยให้ผู้บริโภคญี่ปุ่น
สำหรับผลการจัดงานได้รับความสนใจจากฝ่ายญี่ปุ่นมากกว่า 180 คนเข้าร่วมงาน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการนำเข้า นักธุรกิจด้านอาหาร สหกรณ์ผู้บริโภค และผู้แทนภาครัฐของญี่ปุ่น โดยฝ่ายไทยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน 15 บริษัท กับอีก 2 สมาคม ภายในงานมีการนำอาหารไทยมาให้ผู้ร่วมงานลองชิม ได้แก่ ไก่ทอดชนิดต่างๆ ไก่ยากิโทริ หมูสามชั้นนึ่งซีอิ้ว หมูชุบเกร็ดขนมปังทอด เกี๊ยวกุ้ง เกี๊ยวหมู เบคอนห่อไส้กรอก มะม่วงอบกรอบ มังคุดอบกรอบ สับปะรดอบกรอบ
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามในความตกลงที่จะซื้อขายสินค้าพร้อมบริโภคระหว่างบริษัทผู้ผลิตของไทยและบริษัทผู้นำเข้าญี่ปุ่นจำนวน 3 คู่ เพื่อจัดส่งสินค้าอาหารไทยมาญี่ปุ่นปีละรวม 26,000 ตันต่อปี ได้แก่ 1) บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) ของไทยกับบริษัทนิชิเรของญี่ปุ่น 2) เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพีเอฟ (CPF) ของไทยกับบริษัทอาซาฮีบรอยเลอร์ (ASAHI Broiler) ของญี่ปุ่น และ 3) บริษัทเบทาโกรของไทยกับบริษัทบอสตันเทรดดิ้ง (BOSTON Trading INC) ของญี่ปุ่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจในสินค้าอาหารของประเทศไทย และเป็นการสร้างความมั่นใจในการค้าขายของบริษัทที่ได้มีการลงนามความตกลงการซื้อขายสินค้า โดยคาดว่าจะมีบริษัทที่ร่วมลงนามในการซื้อขายเพิ่มมากขึ้นหลังการจัดงาน