รมว.พลังงาน ระบุมีความจำเป็นต้องกำหนดแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทยปี 2553-2573(พีดีพี 2010) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าในระยะยาวที่มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"แผนดังกล่าวจะเป็นการกระจายเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความสมดุล ไม่พึ่งพิงพลังงานชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าว
สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้นต้องผ่าน 3 กระบวนการหลัก คือ ความคุ้มค่าต่อการลงทุน การมีระบบความปลอดภัย และการยอมรับของประชาชน จึงจะสามารถเดินหน้าการก่อสร้างได้ โดยตามแผนจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง ในระยะเวลา 10 ปี กำลังผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่ง 2 โรงแรกจะก่อสร้างใน 5 ปีแรก ส่วนอีก 3 โรงที่เหลือจะก่อสร้างใน 5 ปีถัดมา
"การตัดสินใจของประชาชนต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ได้วัดจากความรู้สึกหรือความกลัว" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว
ส่วนกรณีกลุ่มเอ็นจีโอยื่นเสนอให้กระทรวงพลังงานยุบสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์(สพน.)นั้น นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงความจำเป็น ไม่ควรใช้อารมณ์ในการตัดสิน เพราะองค์กรดังกล่าวไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศจึงไม่มีเหตุผลที่ควรจะยุบหรือยกเลิก โดย สพน.จะทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
"การคัดค้านไม่ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือถ่านหินจะต้องมีทางเลือกและทางออกให้กับรัฐบาลด้วย เพราะการคัดค้านการเกิดใหม่ของโรงไฟฟ้าต่างๆ อาจไม่ทันกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต" นพ.วรรณรัตน์ กล่าว