ซีพี แนะภาคอุตฯ-เกษตรไทยปรับตัวรับเขตการค้าเสรีอาเซียนเต็มรูปแบบในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองกรรมการผู้จัดการเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี กล่าวถึงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนใน 10 ประเทศ หรือการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ตามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ว่า จะทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงลูกค้าในตลาดอาเซียนซึ่งมีประมาณ 580 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน ซึ่งได้ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 ที่ผ่านมา ส่วนประเทศสมาชิกใหม่อีก 4 ประเทศ คือ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และพม่า จะเริ่มดำเนินการลดภาษีเหลือ 0% ในปี 2558

ดังนั้นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรของไทยจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ โดยมีข้อเสนอแนะ 13 ข้อเพื่อใช้ในการปรับตัวของภาคเอกชน เพื่อลดการพึ่งพารัฐบาลเพียงอย่างเดียว ดังนี้

1.ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรไทย ควรปรับปรุงและเพิ่มคุณภาพสินค้าให้ดียิ่งขึ้น และมีความแตกต่างเหนือคู่แข่ง 2.ลดต้นทุนการผลิต 3.เกษตรกรไทยควรเพิ่มคุณภาพและพัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าเกษตรของไทย 4.รัฐบาลควร แทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร เพื่อลดผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดจากการเปิดเสรีอาเซียน

5.รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถปรับตัวรับกับการแข่งขัน 6.อุตสาหกรรมไทยต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น 7.ภาคอุตสาหกรรมควรตั้งมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียนได้ 8.สินค้าไทยควรมีเอกลักษณ์และแบรนด์เป็นของตนเอง 9.พัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานสูงขึ้น 10.เพิ่มงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ไทยแข่งขันในระยะยาว

11.รัฐบาลควรออกกฎหมายใหม่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับไทย เพราะอาจมีปัญหาใหม่ที่เกิดจากข้อตกลงเสรีการค้า 12.ข้อบังคับกฎหมายที่มีอยู่แล้วควรใช้อย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องอุตสาหกรรม และ13.ผู้บริโภคไทยจะต้องได้รับความคุ้มครอง เพราะจะมีสินค้าที่หลากหลายและราคาถูกเข้ามาสู่ไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าไทยมีความได้เปรียบทางด้าน เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ก็ควรเน้นไปที่สิ่งเหล่านี้ แต่ก็ไม่ควรหยุดนิ่ง ต้องพัฒนาระบบใหม่ๆสู่ตลาดบ้าง

อย่างไรก็ตาม มองว่า ไทยควรเดินหน้าตกลงกรอบการค้าเสรีต่อไป คือ กรอบเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเจรจากับประเทศเดียว ซึ่งน่าจะง่ายกว่าการเจรจากรอบการค้าของอียู ที่มีจำนวนมากถึง 27 ประเทศ และมีการปกป้องสินค้าเกษตรมากกว่า

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งออกกฎหมายลูกภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อให้การเจรจาทางการค้าไม่มีอุปสรรค จากปัจจุบันที่ยังไม่มีความแน่ชัดทำให้ต้องเสนอทุกกรอบการเจรจาเข้าสภาฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ