กสิกรฯ คาดมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยขาขึ้นปลาย Q2/53 หากการเมืองไม่รุนแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 18:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทยที่ถูกกดดันจากปัญหาการเมืองในประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของความเชื่อมั่นภาคเอกชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การคาดการณ์ต่อช่วงเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทยยังคงมีความคลุมเครือและไม่แน่นอนสูง

โดยจังหวะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะเกิดขึ้นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 53 และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/53 เป็นอย่างเร็ว หากสถานการณ์การเมืองผ่านไปได้โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง(จนทำให้ความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองลดระดับลง) รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างมั่นคงมากขึ้น

ทั้งนี้ แรงกดดันต่อแนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจเพิ่มมากขึ้นเมื่อการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายไตรมาส 2 เข้าสู่ไตรมาส 3/53 ซึ่งก็จะทำให้มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงเวลานั้น อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจขยับเข้าใกล้กรอบบนของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ 3.0% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 53 โดยเฉพาะหากไม่มีการคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้นว่า หากความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะข้างหน้าอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกนง.น่าที่จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อปรับจุดยืนนโยบายการเงินจากระดับที่มีความผ่อนคลายเป็นพิเศษให้เป็นระดับที่เป็นปกติมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และธนาคารกลางของประเทศหลักที่ทยอยลดทอนแรงกระตุ้นทางการเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางแนวโน้มและการส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงสัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธปท.ในการประชุมรอบนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายๆ ประเทศในเอเชียรวมทั้งไทย จะถูกปรับขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดการเงินอาจต้องทยอยปรับตัวรับการคาดการณ์วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นนัยว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยอาจเริ่มขยับสูงขึ้น พร้อมกับการโน้มแข็งค่าของค่าเงินบาท ในทิศทางที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินอื่นๆ ในเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ