นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยถึงสภาพอากาศโลกที่แปรปรวน อาทิ การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ความแห้งแล้ง การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ พายุหิมะ ฯลฯ ว่าล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ที่สำคัญ เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ขณะที่มีความต้องการใช้สูงมากทั้งเพื่อการบริโภค และเพื่อผลิตพลังงานเอธานอล โดยภาพรวมราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ภาวะเช่นนี้ส่งผลทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นแล้ว
“ผมได้รับรายงานสถานการณ์ผลิตวัตถุดิบสำคัญของอาหารสัตว์ ว่าแม้ปีที่ผ่านมาการผลิตข้าวโพด ถั่วเหลือง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาผลิตได้มาก แม้ถูกนำไปผลิตอาหารสัตว์ในอัตราที่เพิ่มขึ้นไม่มาก แต่ถูกใช้เพื่อการผลิตพลังงาน-เอธานอลเพิ่มขึ้นมาก ทำให้สต๊อกสุดท้าย (Ending Stock) ของสิ้นปีที่ยกมาปีนี้ลดลง
ที่สำคัญปีที่ผ่านมาจีนมีความต้องการใช้ถั่วเหลืองสูงมาก มีการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ในปริมาณสูงถึง 40 ล้านตัน และมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก ขณะนี้แม้ยังเห็นภาพไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้ราคาก็แกว่งตัวมาก สำหรับราคาข้าวโพดในประเทศเอง ขณะนี้กก. ละ 8.70 บาท ก็สูงกว่าราคาประกันซึ่งอยู่ที่กก.ละ 7.10 บาท ขณะที่สต๊อกข้าวโพดส่วนใหญ่อยู่ในมือพ่อค้าต่างจังหวัด"
ส่วนปลาป่น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ อาหารกุ้ง-ปลา จากปัญหาสภาพอากาศปรวนแปร เกิดเอลนีโญ ภาวะน้ำมันกำลังปรับสูงขึ้นตามสภาวะน้ำมันโลก โดยราคาปลาป่นปีนี้เพิ่มขึ้นมาในระดับสูง ที่ 35.00 บาท/กก. ณ ปลาป่นคุณภาพ 60% โปรตีน ทำให้ต้นทุนในการผลิตอาหารสัตว์สำหรับสัตว์น้ำ อาหารกุ้ง-ปลาสูงขึ้น เป็นภาระที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม เปรูและชิลี ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาป่นรายใหญ่ในโลกกำลังเข้าสู่ฤดูกาลจับปลา ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอีก
นอกจากนี้ กลุ่มวัตถุดิบทดแทน เช่น มันสำปะหลัง ก็ได้ผลกระทบเสียหายจากการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ขณะเดียวกันคงต้องลุ้นกับผลผลิตของข้าวนาปรังที่กำลังจะออกในเร็ววันนี้ว่าจะรอดพ้นจากความแห้งแล้งและเพลี้ยกระโดดได้หรือไม่