(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.53 อยู่ที่ 70.9

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2010 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.53 โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 70.9 ปรับตัวลดลงจาก 71.9 ในเดือน ม.ค.53 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากปัญหาการเมืองเป็นสำคัญ

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 69.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 94.7

ปัจจัยบวก คือ การที่สภาพัฒน์แถลงจีดีพี Q4/52 เป็นบวกครั้งแรกในรอบปีที่ 5.8% และยังปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 53 มาเป็น 3.5-4.5%, การส่งออกเดือน ม.ค.53 โต 31.4% และการลงทุนตามแผนไทยเข้มแข็งได้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบคือ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคกังวลสถานการณ์การเมือง รวมถึงค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น และการชะลอโครงการลงทุนในมาบตาพุด

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การบริโภคโดยรวมยังมีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว แม้ว่าเดือนก.พ.นี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการจะปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลงไม่มีปัญหาความรุนแรงใดเกิดขึ้นในเดือนมี.ค.หรือเม.ย. ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอยู่ในระยะสั้น และการบริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปลายไตรมาส 2 ปีนี้

"ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลง มีปัจจัยกดดันจากเรื่องการเมืองเป็นสำคัญ ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าการบริโภคในระยะสั้นอาจจะกระตุกลงบ้าง แต่หากมองการบริโภคในไตรมาส 1/53 แล้วยังดีกว่าไตรมาส 4/52 ทิศทางความเชื่อมั่นโดยรวมยังสูงขึ้นได้หากการเมืองระยะสั้นไม่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ" นางเสาวณีย์ กล่าว

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปลายสัปดาห์นี้ที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือเสื้อแดง เกิดความรุนแรงและมีแนวโน้มว่าจะบานปลายต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะต้องปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปีนี้ใหม่ จากที่คาดว่าทั้งปี 53 GDP จะเติบโตได้ 3-4% ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ประเมินเบื้องต้นว่าหากสถานการณ์ทางการเมืองไม่รุนแรงยืดเยื้อมาก อาจจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจปีนี้ราว 3-5 พันล้านบาท ซึ่งจะยังคงคาดการณ์ GDP ไว้ตามเดิมที่ 3-4% แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อเกินกว่า 1 สัปดาห์ อาจจะส่งผลบั่นทอนให้ผู้บริโภคไม่กล้าจะจับจ่ายใช้สอย ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อและรุนแรงถึงขั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งไทยและต่างชาติ ก็คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะกระทบมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท และ GDP ปีนี้อาจจะโตเหลือเพียง 2-3%

"หากการเมืองในช่วงปลายสัปดาห์นี้มีความรุนแรง ก็จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นทุกคนต่างจับตามองปลายสัปดาห์นี้ก่อน และอาจจะปรับ GDP ปีนี้ใหม่ จะแถลงในวันที่ 18 มี.ค...แต่เรามองดูแล้วสมมติฐานแรกน่าจะมีความเป็นไปได้มากสุดถึง 60% ส่วนสมมติฐานสุดท้ายน่าจะเป็นไปได้แค่เพียง 10%" นางเสาวณีย์ ระบุ

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศช่วงปลายสัปดาห์นี้ เพราะเกรงว่าจะเกิดความรุนแรงเหมือนเช่นเหตุการณ์ในเดือนเม.ย.52 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศให้แย่ลงไปอีก และเศรษฐกิจของไทยก็จะชะลอตัวลงจากปัจจุบันที่เริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้ว

ทั้งนี้ หอการค้าไทยเห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ในระหว่างวันที่ 11-23 มี.ค.นี้ เพื่อดูแลสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งถือว่าเป็นการเตรียมพร้อมรับมือไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงดีกว่าเป็นการตามแก้ไขปัญหาในภายหลัง และน่าจะช่วยทำให้ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงได้

"เราเห็นด้วยที่รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ และความรุนแรงจะได้ลดน้อยลง เราไม่อยากเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นอีก เพราะจะทำให้ประเทศชาติที่กำลังฟื้นตัวต้องมาหยุดชะงักลงอีก" นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ