ธปท.ระบุเน้นดูแลบาทผันผวนน้อย-สะท้อนพื้นฐานศก.,ยันดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2010 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทในขณะนี้เป็นผลจากเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย ซึ่ง ธปท.จะดูแลค่าเงินบาทให้มีความผันผวนน้อย เพื่อให้เอกชนสามารถปรับตัวได้ และให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยธปท.จะให้ความสำคัญกับการดูแลความผันผวนมากกว่าระดับค่าเงินบาท

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังเป็นขาขึ้น โดยขณะนี้รอจังหวะการปรับขึ้น ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ได้ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อวานนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันภาวะเงินไหลเข้านอกจากจะทำให้บาทแข็งค่าแล้ว ก็จะทำให้ภาวะราคาสินค้าสูงขึ้นด้วย

นายบัณฑิต กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาก กลับเข้าสู่ปกติ คาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะไม่กระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และขณะนี้ตอนนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากปรับขึ้นดอกเบี้ยก็คงจะไม่ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้จนกระทั่งกลายเป็น NPL

"การปรับดอกเบี้ยอาร์/พีของแบงก์ชาติ จะให้ความสำคัญกับการปรับตัวของภาคธุรกิจและตลาดฯ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ ซึ่งการปรับดอกเบี้ยขึ้นจะไม่ทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวในการเสวนา"บทบาทธนาคารพาณิชย์ไทยปี 2553 ต่อภาวะฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย"อีกว่า ความท้าทายของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ คือการให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการรักษามาตรฐานด้านเครดิต เพื่อลดปัญหาหนี้เสีย ซึ่งเชื่อว่าผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งตระหนักเรื่องนี้อยู่แล้ว

ขณะที่มองว่าธนาคารพาณิชย์มีความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อมาก เพราะมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้น ธ.ค.52 ในระดับ 16.1% เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 8.5% ขณะเดียวกันมีสภาพคล่องการเงินสูงมาก สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 94% และสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ล่าสุด 4.8% โดยรวมทั้งสามตัวเป็นดัชนีชี้วัดว่าธนาคารมีความพร้อมในการทำหน้าที่ ช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนสินเชื่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ