SCB คาดมีโอกาส กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายใน Q2/53 ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 11, 2010 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) มองว่ามีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 2/53 แต่ขึ้นกับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากแถลงการณ์ กนง.ล่าสุดส่งสัญญาณดังกล่าวสะท้อนมุมมองของ ธปท.ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นจากไตรมาส 1/53 ไปสูงสุดในไตรมาส 3/53 ภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลจะไม่ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพออกไป อย่างไรก็ตาม เรามองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะทรงตัวในไตรมาส 1-2/53 ก่อนจะชะลอลงในครึ่งหลังของปี เพราะเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะต่ออายุมาตรการด้านค่าครองชีพออกไป ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามที่เราคาดโอกาสที่ ธปท จะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 2/53 ก็ไม่น่าจะมากนัก

ทั้งนี้ กนง.ครั้งล่าสุดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดและมีการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่อเนื่องและความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปรับลดลงจากการประชุม กนง.ครั้งที่แล้ว นอกจากนี้ เงินเฟ้อพื้นฐานก็มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไป แต่ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศยังคงมีอยู่ จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปีก่อนที่จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เข้าสู่ภาวะปกติต่อไป

ศูนย์วิจัยฯ มองว่า เงินเฟ้อพื้นฐานดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นหลัก แม้ว่าแถลงการณ์จะระบุว่าเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ล่าสุดก็อยู่ที่ 0.3% ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานของ ธปท.ที่ตั้งไว้ 0.5-3.0% นอกจากนี้ หาก ธปท. ดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นหลักก็น่าจะต้องปรับดอกเบี้ยลดลงไปอีก ดังนั้นสิ่งที่คิดว่าควรจับตามองคือทิศทางของเงินเฟ้อทั่วไป เพราะที่ผ่านมา ธปท. มักจะขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อทั่วไป

สัญญาณชัดเจนว่า ธปท. ต้องการจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้แน่ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากแท้จริงติดลบ ซึ่งหากทิ้งไว้นานเกินไปจะส่งผลต่อวินัยการออมของประชาชน ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว

แต่การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)บ่งบอกว่าสหรัฐฯ จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้ หากมีการขึ้นดอกเบี้ยของไทยก่อนเฟดก็จะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก จึงไม่น่าจะใช่สิ่งที่ ธปท.ต้องการ เพราะจนถึงต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาเงินบาทก็แข็งค่าไปกว่า 2% แล้วซึ่งนับว่าอยู่อันดับต้นๆ ในภูมิภาค ดังนั้น หาก ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยก็น่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ