ฟอร์บสชี้สหรัฐยืนกรานให้จีนปรับค่าเงินหยวนเป็นความผิดพลาด

ข่าวต่างประเทศ Friday March 12, 2010 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สตีฟ ฟอร์บส บรรณาธิการบริหารนิตยสารฟอร์บสกล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า สหรัฐอเมริกาควรมุ่งเน้นไปที่การร่วมมือกับจีน แทนที่จะกดดันจีนให้ขึ้นค่าเงินหยวน

"ผมเชื่อเสมอว่า รัฐบาลสหรัฐทำผิดพลาดที่กดดันจีนให้ปรับค่าเงินหยวน ผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่สกุลเงินสองสกุลมีมูลค่าคงที่ เนื่องจากทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ"

ฟอร์บส กล่าวว่า การปรับแต่งราคาของสิ่งต่างๆนั้น ไม่ได้ผลในระยะยาว และสร้างความแตกแยกในระยะสั้น

"เราเริ่มกดดันญี่ปุ่นให้เปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินเยนเมื่อยุค 1970" เขากล่าว "ดอลลาร์ในปัจจุบันนี้ร่วงลงมา 75% เมื่อเทียบกับเงินเยน และเรายังคงขาดดุลการค้า"

ฟอร์บสยังได้เปรียบเทียบกลไกของอัตราแลกเปลี่ยนกับนาฬิกา "มันก็เหมือนกับนาฬิกา คุณมีเวลา 60 นาทีในหนึ่งชั่วโมง คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมันทุกวันเพื่อให้เข้ากับตารางเวลาของใคร"

เมื่อถามเกี่ยวกับความขัดแย้งและข้อโตแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนนั้น ฟอร์บสกล่าวว่า ประเทศใหญ่ๆ หรือแม้แต่ประเทศเล็กมักจะมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ แต่ประเด็นก็คือ จะต้องมีความพยายามในการพัฒนากลไกเพื่อรับมือกับความขัดแย้งเหล่านี้

ฟอร์บสยังได้แนะนำด้วยว่า ในแง่ของการค้านั้น รัฐบาล โดยเฉพาะสหรัฐ ควรให้ความสำคัญกับการลดอุปสรรคทางการค้า และไม่ปกป้องอุตสาหกรรมของตนเอง เพื่อที่จะทำเกิดการสื่อสารและการทำงานร่วมกันระหว่างสองประเทศ

นอกจากนี้ ฟอร์บสยังได้ชี้ว่า ตอนนี้ ผู้ประกอบการชาวจีนกำลังให้ความสำคัญไปที่อุปสงค์ของตลาดในประเทศมากขึ้น โดยชี้ให้เห็นว่า จากรายชื่อมหาเศรษฐีที่ติดทำเนียบของฟอร์บส (Forbes Fortune) ในปีนี้ เริ่มมีมหาเศรษฐีชาวจีนที่ทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดจีน ตั้งแต่อาหารไปจนถึงสินค้าอิเลคโทรนิคส์ โดยเขาคาดการณ์ว่า แนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อไป ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับจีน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประสบผลสำเร็จ จีนต้องเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อผลักดันการปฏิรูปภายในและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นในการเริ่มต้นธุรกิจซึ่งรองรับตลาดในประเทศจีนเอง

โดยในบรรดามหาเศรษฐีชาวจีน 64 คนซึ่งได้รับการจัดอันดับโดยฟอร์บสในปีนี้นั้น ปรากฏว่ามหาเศรษฐีจากจีนแผ่นดินใหญ่มาจากภาคธุรกิจที่มีความหลากหลายมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จากข้อมูลในนิตยสารฟอร์บสฉบับล่าสุด มหาเศรษฐีชาวจีนเหล่านี้สะสมทรัพย์สินเงินทองจากการสร้างความสามารถหลักขององค์กรด้วยแบรนด์ซึ่งได้รับการออกแบบและพัฒนาในประเทศจีน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ