นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยผ่าน Tele Present จากประเทศญี่ปุ่น ระหว่างการเดินทางพบนักลงทุนว่า ได้มีการชี้แจงนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 รายในวันนี้ เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ที่ขณะนี้ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยอมรับยังมีบางประเด็นที่ยังเป็นปัญหาโดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศ
อย่างไรก็ตามมองว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้น จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และไม่ควรใช้ความรุoแรง และรัฐบาลพร้อมใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และเตรียมกำลังทหารเพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน
ทั้งนี้มองว่าการชุมนุมครั้งนี้อาจจะมีการใช้ความรุนแรงในช่วง 1-2 วันนี้ แต่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และจะเห็นได้ว่าแม้จะมีการชุมนุมเกิดขึ้น แต่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังเป็นบวก แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุน เพราะได้มีการประเมินว่าแล้วว่า การชุมนุมมาจากการกระทำของคนบางกลุ่ม โดยที่รัฐบาลได้เตรียมพร้อมรับมือ และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนการชุมนุม
"ตลาดหุ้นยังเป็นบวก สะท้อนความคิดของนักลงทุนและประชาชน และไม่ต้องตระหนกหากจะเห็นภาพการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อทีวี" นายกรณ์ กล่าว
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ได้ชี้แจงนักลงทุนญี่ปุ่นทราบถึงต้นเหตุของปัญหาการชุมนุม เนื่องจากคนบางกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลคดียึดทรัพย์ของอดีตนายกรัฐมนตรีและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตย ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นคำพิพากษาดังกล่าวมีความยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าแม้ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศต่อประเทศไทยจะมีมากขึ้น แต่ไม่เชื่อว่านักลงทุนญี่ปุ่น หรือนักลงทุนประเทศอื่นๆ จะให้โอกาสแก่ไทยตลอดไป เพราะหากไทยยังมีปัญหาการเมืองต่อไป นักลงทุนต่างประเทศอาจย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับไทย ทั้ง อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
"นักลงทุนญี่ปุ่นไม่มีสัญญาณใด ๆที่จะถอนการลงทุน อีกทั้งตอนนี้ญี่ปุ่นได้มุ่งที่จะขยายธุรกิจบริการในไทยเพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่ามีศักยภาพพร้อม เป็นการอัพเกรดประเทศไทย โดยจะไม่เน้นเรื่องการขายแรงงานอีกแล้ว" รมว.คลัง กล่าว
ส่วนปัญหามาบตาพุดนั้น ได้มีการชี้แจงนักลงทุนถึงความชัดเจนในบางโครงการที่สามารถเดินหน้าต่อได้ และขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายอยู่ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้มีการชี้แจงการปรับปรุงระบบศุลกากร โดยการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ศุลกากรให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม.
นอกจากนี้ไทยจำเป็นมีการวางแผนยุทธศาสตร์ประเทศในระยะยาว โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนยุทธศาสตร์แนวทางการลงทุนและการใช้เงินของรัฐบาล ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการวางแผนการจัดสรรงบประมาณและหาแหล่งเงินในการลงทุนของรัฐบาลได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้ภาคเอกชนได้มีการวางแผนการลงทุนได้ตาม