3 สมาคมรง.น้ำตาลไทยเซ็น MOU อินโดฯหนุนการเติบโตอุตสาหกรรมในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 16, 2010 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า วันนี้ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Indonesian Refined Sugar Association จากประเทศอินโดนีเชีย ว่าด้วยความร่วมมือและการพัฒนาเชิงการค้าในอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ซึ่งการลงนามในครั้งนี้จะสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยในระยะยาว

สำหรับรายละเอียดภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะครอบคลุมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น รวมถึงการร่วมผลักดันการทำข้อตกลงเสรีการค้า โดยผ่านการหารือในระดับพหุภาคีและทวิภาคี

ทั้งนี้ ได้ตกลงที่จะมีการร่วมประชุมหารือกันอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและอินโดนีเซียอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของทั้ง 2 ประเทศในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ภาคเอกชนปรับตัวเมื่อก้าวเข้าไปสู่ความร่วมมือของอาเซียน

นายวิบูลย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลของเราเดินหน้าโดยไม่ต้องรอภาครัฐบาลเป็นผู้นำพาไป ซึ่งเราก็พยายามเดินหน้าพัฒนาความร่วมมืออยู่เสมอ ซึ่งได้ตกลงกับทางอินโดนีเซียแล้วว่าถ้าความสัมพันธ์ของเราเป็นไปด้วยดี ในอนาคตก็จะเชิญชาติอาเซียนอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนามเข้ามาเป็นพันธมิตรด้วย

"การเซ็น MOU ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ไทยจะขยายขอบเขตความร่วมมืออย่างชัดเจนในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายทั้งข้อมูลด้านการค้า ราคาน้ำตาล และประเด็นปัญหา อุปสรรค ในการค้าน้ำตาลระหว่างกัน รวมถึงจะมีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมระหว่าง 2 ประเทศอย่างต่อเนื่อง"นายวิบูลย์ กล่าว

นายวิบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศอินโดนีเซียถือเป็นตลาดผู้ซื้อน้ำตาลอันดับหนึ่งของไทย ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้จะเกิดผลประโยชน์กับอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยอย่างมหาศาล

ในปี 51 ไทยส่งออกน้ำตาลไปยังอินโดนีเซียเป็นอันดับหนึ่งถึง 1.642 ล้านตัน มูลค่า 449.727 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,865 ล้านบาท และในปี 52 มีปริมาณ 1.035 ล้านตัน มูลค่า 360.127 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 12,276 ล้านบาท

ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน(AFTA) จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะน้ำตาลมีความสามารถแข่งขันดีขึ้นในตลาดอินโดนีเซีย โดยคาดว่าในปี 53 ไทยจะส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซียประมาณ 1 ล้านตันใกล้เคียงกับปี 52 เป็นน้ำตาลทรายดิบประมาณ 7-8 แสนตัน ที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาว

อย่างไรก็ตาม มีความหวังว่าอยากจะครอบครองตลาดน้ำตาลในอินโดนีเซียให้ได้ทั้งหมด แต่คงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากมีผู้ส่งออกรายอื่นของโลกทำตลาดอยู่ด้วย โดยอินโดนีเซียมีความต้องการบริโภคน้ำตาลปีละประมาณ 5 ล้านตัน ผลิตได้เอง 2-2.5 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ต้องมีการนำเข้าน้ำตาลประมาณปีละ 2.5 ล้านตัน

นายวิบูลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำตาลที่ส่งออกไปอินโดนีเซียเสียภาษีราว 30% แต่ในอนาคตหลังเปิด AFTA จะมีการทยอยลดภาษีปีละ 5% จนไม่เหลือภาษีในที่สุด

*มองราคาน้ำตาลผ่านช่วงพีคมาแล้ว

ด้านนายผรินทร์ อมาตยกุล ผู้อำนวยการด้านการตลาดต่างประเทศ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และคณะทำงานด้านตลาดต่างประเทศ ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปีซึ่งถีบตัวขึ้นไปอยู่ที่ 800 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ผลจากการที่ผลผลิตขาดแคลน เพราะบราซิลและออสเตรเลียมีปัญหาเรื่องผลผลิต เนื่องจากสภาพอากาศประกอบกับมีการเก็งกำไรของกองทุนต่างๆ, ยุโรปมีปัญหาเศรษฐกิจค่าเงินยุโรปอ่อนดอลลาร์แข็งค่า พอดอลลาร์แข็งก็เกิดการลงทุนดอลลาร์ ขณะที่ราคาน้ำตาลขึ้นไปทดสอบ 30 เซ็นต์/ปอนด์แต่ไม่ทะลุเสียทีและคนเริ่มไม่มั่นใจเศรษฐกิจด้วยก็เลยเกิดการเทขาย

ประกอบกับมีข่าวผระเทศผู้ผลิตน้ำตาลจะเริ่มเปิดหีบอ้อย เร่งผลผลิต นักลงทุนเห็นเป็นขาลงของน้ำตาลก็ยิ่งเทขายออกมา บางส่วนที่อยากจะลงทุนมองว่าแนวโน้มราคาน่าจะปรับตัวลดลงอีก ก็ชะลอการลงทุนน้ำตาล ยิ่งทำให้ตลาดร่วงเร็วมาก

"ถามว่าจาก 30 เซ็นต์/ปอนด์ ตอนนี้ราคาน้ำตาลร่วงลงมาอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์/ปอนด์ภายใน 3 สัปดาห์ผิดปกติมั้ย ไม่นะ ราคาตอนนี้โอเคมั้ย ก็ถือว่าดีมาก แต่ถ้าลงไปต่ำกว่านี้มากๆ ก็ยังดีเพราะคนรอซื้ออยู่ แต่ถ้าขึ้นไปมากๆ ถึงเวลานึงก็ต้องลงมาเพราะคงไม่มีคนรอซื้อเท่าไหร่"นายผริญทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกในระยะสั้นคือในช่วง 3-4 เดือนนับจากนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 500-600 เหรียญสหรัฐ/ตัน (+/- ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐ/ตัน) และปีนี้ไม่น่าจะมีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับ 800 เหรียญสหรัฐ/ตันเหมือนตอนต้นปีอีกแล้ว เนื่องจากบราซิลและออสเตรีเลียผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดในเร็วๆนี้ โดยคาดการณ์ว่าผลผลิตของบราซิลในปีนี้น่าจะอยู่ราวๆ 33 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านตันในปี 51 และ 28 ล้านตันในปี 52

ซึ่งในปี 52 บราซิลส่งออกน้ำตาลประมาณ 23-25 ล้านตัน ตลาดส่งออกหลักคือ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และบางส่วนส่งออกมาเอเซียด้วย

ส่วนออสเตรเลียผลิตน้ำตาลได้ปีละ 4-4.5 ล้านตัน บริโภคในประเทศ 1 ล้านตันเศษ ส่งออก 3 ล้านตันโดยประมาณ ตลาดส่งออกคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ยืนยัน ต้องรอดูปริมาณผลผลิตที่เกิดขึ้นจริงอีกครั้ง

"ราคาน้ำตาลในตลาดโลกผ่านช่วงพีคมาแล้วคือเมื่อตอนต้นปี 800เหรียญสหรัฐ/ตัน เพราะตอนนั้นมีปัญหาผลผลิตขาดแคลนมาก แต่ตอนนี้ปริมาณผลผลิตน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นไปได้ยากที่ราคาน้ำตาลจะทะยานขึ้นไปทดสอบ 800 เหรียญสหรัฐ/ตันอีกครั้ง เพราะมองว่าปัญหาภัยแล้งหรือเอลนินโญ่ไม่น่าจะรุนแรงอย่างที่หลายๆฝ่ายคาดการณ์ไว้"นายผริญทร์ กล่าว

*เชื่อส่งออกน้ำตาลไม่สะดุดหากรัฐบาล-หน่วยงานเกี่ยวข้องยังทำงานได้ตามปกติ

นายผริญทร์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของไทย ตราบใดที่รัฐบาลยังสามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาการปิดสนามบิน หรือปิดท่าเรือ การส่งออกน้ำตาลไปยังนานาประเทศก็น่าจะยังเป็นไปตามปกติ

สำหรับความร่วมมือกับประเทศอื่นๆในอาเซียนนั้น เชื่อว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้าไทยน่าจะสามารถเซ็น MOU ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลกับประเทศฟิลิปปินส์ได้ ส่วนเวียดนามยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ เนื่องจากเวียดนามเป็นผู้นำเข้ารายเล็ก และปัจจุบันน้ำตาลที่มีอยู่ในเวียดนามบางส่วนมีการนำเข้ามาจากกัมพูชาด้วย

ปี 52 เวียดนามนำเข้าน้ำตาลจากไทย 1.26 แสนตัน ทั้งน้ำตาลทรายดิบและน้ำตาลทรายขาว ยังไม่รวมอีกประมาณ 2 แสนตันที่นำเข้าจากกัมพูชาซึ่งก็นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งปี 52 กัมพูชานำเข้าน้ำตาลจากไทยทั้งสิ้นประมาณ 4.7 แสนตัน

นายผริญทร์ กล่าวถึงการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ว่า อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยน่าจะได้ประโยชน์มากกว่เสียประโยชน์ เนื่องจากในอาเซียนไม่มีใครเชี่ยวชาญด้านตลาดน้ำตาลเท่ากับประเทศไทยอีกแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ