นายณอคุณ สิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค ในเดือนมีนาคม มีการทำสถิติสูงสุดจำนวน 4 ครั้ง มีปริมาณการใช้ประมาณ 22,650 เมกกะวัตต์ ซึ่งเป็นการทำลายสถิติปีที่ผ่านมาที่ระดับ 22,050 เมกกะวัตต์
ขณะที่เดือนเมษายนคาดว่าพีคจะอยู่ที่ 23,600 เมกะวัตต์ เนื่องจากอุณหภูมิมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงเร่งรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงาน โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการติดตามการประหยัดพลังงานภาคประชาชน ที่มีการกำหนด 15 มาตรการในการดูแลการประหยัดพลังงาน โดยโครงการล้างเครื่องปรับอากาศ ในฤดูร้อน ถือเป็น 1 ในมาตรการ ที่จะช่วยลดการใช้พลังงาน 900 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 27,000 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 430,000 ตันต่อปี
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องปรับอากาศ 7 ล้านเครื่อง หากมีการล้างเครื่องปรับอากาศทั้งประเทศ จะช่วยประหยัดได้ 10 % หรือสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 2,000 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 6,000 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1 ล้านตันต่อปี