ที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.1% สอดคล้องกับที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ แบงค์ชาติญี่ปุ่นยังได้ขยายวงเงินการปล่อยเงินกู้จากเดิมที่ 10 ล้านล้านเยน เป็น 20 ล้านล้านเยน
ทั้งนี้ บีโอเจได้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2551 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้คงระดับการประเมินเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งจะยังคงดูแลเงื่อนไขต่างๆด้านการเงินในลักษณะที่ผ่อนปรนต่อไป
หลายฝ่ายมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากรัฐบาลให้แก้ปัญหาราคาสินค้าที่ร่วงลงมากกว่าเดิม เพราะอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า ในการแถลงข่าวช่วง 15.30 น.วันนี้ตามเวลาท้องถิ่นในญี่ปุ่น ผู้ว่าการแบงค์ชาติญี่ปุ่นจะเปิดเผยความพร้อมในการดำเนินการเพิ่มเติม เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ยังคงร่วงลงแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นก็ตาม
ดัชนีซีพีไอเดือนม.ค.2553 ปรับตัวลดลงตามคาดที่ 1.3% จากปีก่อนหน้านี้ พร้อมทำสถิติลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ซึ่งการรายงานข้อมูลดังกล่าวได้จุดกระแสความวิตกกังวลว่า ภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อจะยังฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศต่อไป
ทั้งนี้ แบงค์ชาติญี่ปุ่นได้ระบุในแถลงการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวขึ้น โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขยายตัว 3.8% ต่อปีในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แต่ราคายังคงร่วงลงอย่างต่อเนื่อง
และเพื่อเป็นการจัดหากองทุนให้ธนาคารต่างๆมากขึ้น ทางแบงค์ชาติญี่ปุ่นจะเพิ่มวงเงินกองทุนจากเดิม 10 ล้านล้านเยน เป็น 20 ล้านล้านเยน พร้อมกับขยายขอบเขตการปล่อยเงินกู้ โดยแบงค์ชาติจะอัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงินมากขึ้น เพื่อดูแลให้สินเชื่อในระบบเศรษฐกิจคล่องตัว และแก้ปัญหาเงินฝืด
แถลงการณ์ระบุว่า แบงค์ชาติญี่ปุ่นยอมรับว่า การแก้ปัญหาเงินฝืดเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น และแบงค์ชาติญี่ปุ่นตั้งเป้าที่จะดูแลสภาวะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากที่สุด
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ก่อนหน้าการประชุมครั้งล่าสุดนี้ นายนาโอโตะ คัง รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นได้กดดันแบงค์ชาติญี่ปุ่นให้ลงมือแก้ปัญหาเงินฝืดมากกว่านี้ เนื่องจากการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศนั้นมีข้อจำกัดจากหนี้จำนวนมหาศาล ซึ่งอยู่ที่ระดับ 200% ของตัวเลขจีดีพีโดยกระทรวงการคลังต้องการให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดภายในสิ้นปีนี้ และแนะให้มีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ